เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 รัฐบาล สปป. ลาวได้ออกมติว่าด้วยการรับรองและการประกาศใช้นโยบาย การใช้รถยนต์ไฟฟ้าใน สปป. ลาว เพื่อดําเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการคลัง โดยเฉพาะมาตรการประหยัด ลดการนําเข้าน้ํามันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเพื่อลดการรั่วไหลของเงินตราต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ยานพาหนะ และการก่อมลพิษจากรถที่ใช้น้ํามันเชื้อเพลิง รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สปป. ลาวมีศักยภาพในการผลิตอย่างมาก โดยตั้งเป้าจํานวนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 1 ของผู้ใช้ยานพาหนะ ภายในปี 2568 และร้อยละ 30 ภายในปี 2573 โดยมีมติ ดังนี้
.
1. นโยบายสําหรับผู้นําเข้าและจําหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า
.
– ปฏิบัติตามนโยบายที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยภาษี (กฎหมายว่าด้วยศุลกากร) กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองส่วยสาอากร และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมธุรกิจนําเข้า และจําหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า
– รัฐจะไม่จํากัดโควตาการนําเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันด้านราคาตามกลไกตลาด โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่นําเข้าและจําหน่ายในสปป. ลาว ต้องมีคุณภาพ ความปลอดภัยด้านเทคนิคตามมาตรฐานสากล มีศูนย์บริการหลังการขาย ซ่อมบํารุง และเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งมีระบบกําจัดและจัดการแบตเตอรี่ ที่เสื่อมสภาพและเศษเหลือใช้จากกิจการรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
– กําหนดป้ายหรือเครื่องหมาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์สําหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป สามารถจําแนกได้ง่าย
.
2. นโยบายสําหรับผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า
.
– รัฐบาลสปป. ลาว ส่งเสริมให้บุคคล/นิติบุคคลภายในประเทศและต่างประเทศที่สนใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ อะไหล่ และการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้บริการภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ โดยการสนับสนุนด้านศุลกากร และภาษีการนําเข้าในอัตราที่เหมาะสม สําหรับการนําเข้าอุปกรณ์ และอะไหล่ เพื่อประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาล สปป. ลาวจะผ่อนผันภาษีกําไรและค่าเช่าสัมปทานที่ดินของรัฐให้กับผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยภาษี (กฎหมายว่าด้วยศุลกากร) กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองส่วยสาอากร และกฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
.
3. นโยบายสําหรับผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า
(1) รัฐส่งเสริมให้บุคคล/นิติบุคคลภายในประเทศและต่างประเทศที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาสถานีบริการ ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ดังนี้
– ยกเว้นหรือผ่อนผันภาษีศุลกากรการนําเข้าอุปกรณ์และระบบสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
– กําหนดราคาไฟฟ้าสําหรับสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างสมเหตุสมผล
– อํานวยความสะดวกการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภทในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในเมือง ชุมชน และตามเส้นทางหลวงแห่งชาติทั่วประเทศ
– ผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจสถานีบริการน้ํามันให้หันมาพัฒนาสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
.
(2) รัฐมีนโยบายด้านราคาไฟฟ้าสําหรับสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ดังนี้
– ให้ผู้พัฒนาสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากําหนดแผนรายจ่ายที่เหมาะสม ประกอบด้วยค่าซ่อมบํารุง และค่าซ่อมแซมทางหลวง (กองทุนทาง) กองทุนส่งเสริมและพัฒนาพลังงาน ต้นทุนและค่าบริการของผู้ประกอบการ สําหรับกระแสสลับและกระแสตรงตามความเหมาะสม และภาษีมูลค่าเพิ่ม
– ให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวกําหนดราคาไฟฟ้าที่สนองให้ผู้พัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามฤดูกาล
(3) รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้บุคคล/นิติบุคคลสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องมีระบบบริหารจัดการเศษเหลือใช้จากการเปลี่ยนอุปกรณ์ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ ให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่กําหนดไว้
.
4. นโยบายต่อผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
– รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวเป็นผู้บริการติดตั้งระบบไฟฟ้าสําหรับเครื่องชาร์จไฟฟ้า โดยไม่เก็บค่ามิเตอร์ ไฟฟ้าตามที่พักอาศัย และสํานักงานต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยทางด้านเทคนิค
– ชําระค่าธรรมเนียมการใช้ถนนประจําปีต่ํากว่ารถที่ใช้น้ํามันเชื้อเพลิงอย่างน้อยร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับรถที่มีความแรงเท่ากัน
– ให้ความสําคัญลําดับต้นสําหรับที่จอดรถยนต์ไฟฟ้าตามจุด หรือสถานีบริการรถยนต์ไฟฟ้าตามสถานที่สาธารณะ
.
ทั้งนี้ รัฐบาลสปป. ลาว เป็นผู้นําและต้นแบบของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจากรถของรัฐ และรถประจําตําแหน่งที่จะซื้อใหม่ โดยจะจัดซื้อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด จากนั้นจะผลักดันให้รัฐวิสาหกิจและรถขนส่งสาธารณะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการพยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย
.
ขณะนี้ ไทยกำลังให้ความสำคัญในการพัฒนาการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยได้ทำการพัฒนาการทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้า และติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่แล้วในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสปป. ลาว ประกาศส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศเช่นเดียวกัน โดยสนับสนุนด้านศุลกากร และภาษีการนําเข้าแก่นักลงทุนต่างประเทศ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ อะไหล่ และการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่จำกัดการนำเข้า ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการร่วมวิจัย พัฒนา และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากสปป. ลาว มีทรัพยากรด้านพลังงานไฟฟ้าที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดในอาเซียน ซึ่งความร่วมมือนี้อาจนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอนาคต ผ่านการเชื่อมโยงที่ยั่งยืน สะดวกสบาย ประหยัดเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์