เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 นายสอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้แถลงต่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 9 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 8 เกี่ยวกับสภาพเงินตราต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาว และมาตรการแก้ไข สรุปสาระสำคัญดังนี้
[su_spacer]
การรักษาเสถียรภาพทางการเงินเป็นสิ่งท้าทายสำหรับ สปป. ลาว นับตั้งแต่ปี 2561 โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท ทำให้ สปป. ลาว ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมีภาระในการชำระค่าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจลาวอย่างหนักหน่วง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศผ่านระบบธนาคารมีประมาณ 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยร้อยละ 60 ของมูลค่าการลงทุนเป็นการกู้ยืมที่มีพันธะต้องชำระหนี้ต่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์สามารถซื้อเงินสกุลต่างประเทศจากลูกค้าเพียง 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการในการปรับปริมาณเงินของธนาคารแห่ง สปป. ลาว ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2563 ขีดความสามารถของธนาคารแห่ง สปป. ลาว ในการจัดหา (supply) เงินตราต่างประเทศสำหรับการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นเฉลี่ยต่อเดือนลดลงเกือบร้อยละ 50 และเกือบร้อยละ 41 สำหรับธนาคารพาณิชย์ ในช่วงปี 2556 – 2560 แหล่งเงินสกุลต่างประเทศเพื่อรองรับการนำเข้ามาจากภาคธนาคารเฉลี่ยร้อยละ 80 แต่ในปี 2563 ลดลงเหลือร้อยละ 50 เท่านั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารกับร้านรับแลกเงินอยู่ที่ร้อยละ 5.52 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อใน สปป. ลาว ทั้งนี้ ธนาคารแห่ง สปป. ลาวมีแผนจะดำเนินมาตรการ ดังนี้
[su_spacer]
1) ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนเงินทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้บุคคลและนิติบุคคล โดยเฉพาะในสาขาการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรและอุตสาหกรรม การผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค การท่องเที่ยวและการบริการ หัตถกรรม และธุรกิจที่ส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำได้มากขึ้น
[su_spacer]
2) เร่งดำเนินกลไกการแลกเปลี่ยนเงินกีบกับเงินหยวนกับธนาคารกลางของจีน และขยายไปสู่ธนาคารกลางประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องด้านเงินตราต่างประเทศและลดการใช้เงินสกุลต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่งเป็นหลัก
[su_spacer]
3) ขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวดเพื่อให้การควบคุมกระแสเงินเข้า – ออกประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
[su_spacer]
4) ประสานกระทรวงการเงิน สปป. ลาว เพื่อออกพันธบัตรคลังเงิน โดยผ่านการประมูลที่ธนาคารฯ เพื่อเสริมดุลงบประมาณ
[su_spacer]
5) ประสานกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว กระทรวงการเงิน สปป. ลาว กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว องค์การปกครองนครหลวงเวียงจันทน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาสินค้าให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
[su_spacer]