ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางด้านการค้าของ สปป. ลาว กรมการนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว รายงานว่า เดือน เมษายน 2563 สปป. ลาว มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าประมาณ 529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกประมาณ 208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย สปป. ลาวขาดดุลการค้าประมาณ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าและส่งออกดังกล่าวไม่รวมมูลค่าการส่งออกไฟฟ้า
[su_spacer]
ในเดือน เมษายน 2563 สินค้าส่งออกสำคัญของ สปป. ลาว ได้แก่ เยื่อไม้และเศษกระดาษ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กล้วย 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทองแดงและผลิตภัณฑ์จากทองแดง 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทองผสมและทองแท่ง 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มันสำปะหลัง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลไม้ (แตงโม เสาวรส มะขาม) 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กาแฟ (ยังไม่แปรรูป) 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทอง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกลือ (ยังไม่แปรรูป) 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเครื่องนุ่งห่ม 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปยังจีนมูลค่า 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทย 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเยอรมนี 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
[su_spacer]
สินค้านำเข้าที่สำคัญของ สปป. ลาว ประกอบด้วยเครื่องจักรกล (ไม่รวมเครื่องยนต์) 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหล็กและอุปกรณ์ที่ทำจากเหล็ก 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้ำมันดีเซล 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัตว์มีชีวิต 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครื่องดื่ม (น้ำ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง) 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยานพาหนะ (ไม่รวมรถไถนาและรถจักรยานยนต์) 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไฟฟ้า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของใช้ที่ทำจากพลาสติก 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณต่าง ๆ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอะไหล่รถ (รวมทั้งยางรถ กระจก โซ่รถ) 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหรัฐอเมริกา 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
[su_spacer]
มูลค่าการนำเข้าและส่งออกเดือน เมษายน 2563 ลดลงร้อยละ 37.91 เมื่อเทียบกับเดือน เมษายน 2562 โดยการส่งออกลดลงร้อยละ 41.89 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 35.09 สปป. ลาวขาดดุลการค้าลดลงร้อยละ 17.03 โดยประเทศคู่ค้าหลักยังคงอันดับเดิม คือ ส่งออกไปจีน ไทย และเวียดนามตามลำดับ และนำเข้าจากไทย จีน และเวียดนามตามลำดับ มูลค่าการนำเข้า – ส่งออกที่ลดลงคาดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการออกมาตรการรับมือและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยเฉพาะคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสกัดกั้น ควบคุม และเตรียมความพร้อมรอบด้านเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 อีกทั้งยังมีการปิดการดำเนินกิจการโรงงานขุดค้น แปรรูปแร่ธาตุและโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำล้น ส่งผลให้โรงงานและโครงการขนาดใหญ่ปิดการดำเนินกิจการชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจกว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ
[su_spacer]