สปป. ลาวเป็นประเทศที่ภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งรายได้หลักของประชาชน โดยในปี 2564 รายได้จากภาคการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 16 ของ GDP โดยรัฐบาล สปป. ลาวได้กำหนดให้แผนการส่งเสริมภาคการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชเชิงพาณิชย์เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 – 2568) เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้อย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยพืชส่งออกหลักของ สปป. ลาว ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา กล้วย กาแฟ (ยังไม่แปรรูป) ข้าวโพด และข้าว นอกจากนี้ การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อทดแทนการนำเข้ายังเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและการคลังอีกด้วย
ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ราคาสินค้าประเภทพืชเพื่อการบริโภคและสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าวส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของ สปป. ลาว ซึ่งในปี 2564 มันสำปะหลัง ยางพาราและกล้วย ได้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับต้น ๆ โดยส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจาก 200.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 274 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 36 ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 269 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 17.3 และกล้วยเพิ่มขึ้นจาก 187.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 235.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นร้อยละ 25.95
การปลูกมันสำปะหลังใน สปป. ลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 สปป. ลาว มีเนื้อที่ปลูกมันสำปะหลัง45,600 เฮกตาร์ สามารถผลิตได้ 1,513,920 ตัน และในปี 2563 ขยายเป็น 112,450 เฮกตาร์ ผลผลิตได้ 3,390,000 ตัน เนื่องจากอุตสาหกรรมการแปรรูปมันสำปะหลังได้รับความนิยมอย่างมากเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ยา อาหารสัตว์ สารให้ความหวาน เครื่องนุ่งห่ม กระดาษและอื่น ๆ โดยพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่อยู่ในแขวงไซยะบูลี รองลงมาได้แก่ สาละวัน จำปาสักและบอลิคำไซ ตามลำดับ ตลาดส่งออกมันสำปะหลังที่สำคัญของ สปป. ลาว ได้แก่ ไทย เวียดนาม และจีน จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าตลาดมันสำปะหลังมีโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของ สปป. ลาว ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามันสำปะหลังและยางพาราจะเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแปรรูป ด้วยความที่ยางพาราและมันสำปะหลังยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ใน สปป. ลาว การสร้างมูลค่าเพิ่มและการผลักดันให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ได้แก่ (1) ชาวเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบการปลูกมันสำปะหลังแบบยั่งยืน ส่วนใหญ่ปลูกตามธรรมชาติบางพื้นที่ได้ผลผลิตน้อยและไม่มีคุณภาพ จึงยังไม่ตรงตามความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่ส่วนใหญ่ต้องการหัวมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อปลูกมันสำปะหลังอีกด้วย (2) ไม่มีมาตรการในการคุ้มครองราคาซื้อ-ขายยางพารา (3) ข้อจำกัดด้านแรงงานและเครื่องมือที่ทันสมัย (4) การจัดสรรการใช้ที่ดินยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากบางพื้นที่ไม่ปลูกผลผลิตเพื่อการบริโภคชนิดอื่นให้มีความหลากหลาย อีกทั้งความต้องการใช้ที่ดินสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ใช้ที่ดินเพื่อผลิตพืชเพื่อการบริโภคลดลง และ (5) การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติยังเป็นสิ่งท้าทาย โดยเฉพาะปัญหาการเสื่อมโทรมของที่ดินเนื่องจากการใช้สารเคมีที่เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยและความท้าทายข้างต้น ผู้ประกอบการจึงควรติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดถึงโอกาสและการเติบโตของพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญทั้งสองชนิดว่าจะสามารถเติบโตและเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรมากน้อยเพียงใดในอนาคต
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์