แผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวงสาละวันสรุปผลการดําเนินงานด้านการค้าและอุตสาหกรรมช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2564 ซึ่งสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากกว่า 100 ล้านกีบ (ประมาณ 2.85 แสนบาท) คิดเป็นร้อยละ 57.18 ของแผนประจําปี โดยการค้าภายในมีมูลค่า 774.55 พันล้านกีบ (ประมาณ 2,213 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 43.35 ของแผนประจําปี ด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น มีการนําเข้าสินค้ามูลค่า 57.95 พันล้านกีบ (ประมาณ 165 ล้านบาท) และการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,285.86 พันล้านกีบ (ประมาณ 3,673 ล้านบาท) โดยแขวงฯ ส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยมากที่สุด ด้วยมูลค่า 964.26 พันล้านกีบ (ประมาณ 2,755 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 74.99 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วยการส่งออกสินค้าไปยังเวียดนาม มูลค่า 295.27 พันล้านกีบ (ประมาณ 843 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 22.96 กัมพูชา มูลค่า 23.40 พันล้านกีบ (ประมาณ 67 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 1.82 และอินเดีย มูลค่า 2.93 พันล้านกีบ (ประมาณ 8 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 0.23
.
สําหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แขวงสาละวันตั้งเป้าหมายผลักดันให้แขวงฯ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-6 คิดเป็นมูลค่า 4,930 พันล้านกีบ (ประมาณ 14,085 ล้านบาท) เฉลี่ยต่อหัวประชากร 1,232 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ประกอบด้วย ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คิดเป็นร้อยละ 41 ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 คิดเป็นร้อยละ 25 และภาคการบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 คิดเป็นร้อยละ 34 และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ทั้งหมด 173.04 พันล้านกีบ (ประมาณ 494 ล้านบาท) และมีมูลค่าการส่งออก 1,091 พันล้านกีบ (ประมาณ 3,117 ล้านบาท) และมูลค่าการนําเข้า 170 พันล้านกีบ (ประมาณ 485 ล้านบาท)
.
แขวงสาละวันให้ความสําคัญกับภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติของ สปป. ลาว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและช่วยเหลือประชาชนให้มีอาชีพและมีรายได้ ตลอดจน 5 แผนงานของกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว ในการแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมลาวและเศรษฐกิจ สปป. ลาว ระหว่างปี 2564 – 2566 โดยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ดร. โพไซ ไซยะสอน เจ้าแขวงสาละวัน พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมครอบครัวต้นแบบในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร สัตว์ปีก และปลา ที่เมืองตุ้มลาน เพื่อส่งเสริมและสร้างความมั่นคงให้แก่ครัวเรือน โดยการสร้างอาชีพ นอกจากนี้ แขวงฯ ยังผลักดันและส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนภายในแขวงฯ จากงานอุตสาหกรรม และหัตถกรรม ซึ่งปัจจุบันแขวงสาละวัน มีโรงงานทั้งหมด 517 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานขนาดใหญ่ 18 แห่ง โรงงานขนาดกลาง 74 แห่ง โรงงานขนาดเล็ก 307 แห่ง และโรงงานภายในครอบครัว 151 แห่ง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวสะอาดปลอดภัยจากโรค COVID-19
.
การที่แขวงสาละวันส่งออกสินค้ามายังไทยมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกัน และยังมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรเป็นหลักเหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้มีการลงทุนในภาคการเกษตรในแขวงสาละวันที่หลากหลาย เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ไม้แปรรูป ข้าว เป็นต้น ขณะเดียวกัน แขวงสาละวันยังมีความต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในภาคการเพาะปลูกพืชอุตสาหกรรม และไม้ผลด้วย โดยเฉพาะ การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรแปรรูปในพื้นที่ท้องถิ่น เช่น กาแฟ กล้วย ถั่วลิสง ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง รวมทั้งด้านการบริการ และการท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาถึงกฎระเบียบ และโอกาสการลงทุนในภาคส่วนนี้ รวมถึงติดตามการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 ที่จะเชื่อมโยงจังหวัดอุบลราชธานี กับแขวงสาละวัน โดยจะเริ่มสร้างในปี 2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการร่วมค้าขายและลงทุนกับแขวงสาละวัน และสปป. ลาวได้มากยิ่งขึ้นอนาคต
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต
.
แหล่งอ้างอิง
.
– หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า (การส่งออกแขวงสาละวันเพิ่มขึ้นมาก 6 เดือน มีมูลค่าถึง 1,285 พันล้านกีบ มากกว่าแผนประจําปีร้อยละ 17.83)
– หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า (เจ้าแขวงสาละวันเน้นเมืองตุ้มลานมุ่งเน้นการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์)
– หนังสือพิมพ์สาละวัน (สําเร็จการประชุมองค์การปกครองแขวงสาละวันครั้งที่ 2 สมัยที่ 9)
– ข่าวเด่นประจําสัปดาห์สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ (รัฐมนตรีกระทรวงกสิกรรม และป่าไม้ กําหนด 5 แผนงานจนถึงปี 2566 แก้ปัญหาเกษตรกรรมลาว) ประจําเดือนสิงหาคม 2564
– หนังสือพิมพ์สาละวัน (แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยวแขวงสาละวัน สรุปผลการดําเนินงาน 6 เดือนแรกปี 2564)