เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2563 สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจแห่งชาติได้ออกรายงานผลการศึกษาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจลาว ข้อเสนอแนะในการจัดทำมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว ประจำเดือน เม.ย. 2563 โดยผลการศึกษาพบว่า สภาพคล่องของระบบธนาคารอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวช้าของภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงที่จะมีหนี้เสีย (NPLs) เพิ่มขึ้นภายหลังระยะผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น จากการกู้ยืมเงินของธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด
[su_spacer]
ข้อมูลการสำรวจธุรกิจบริการของสภาการค้ายุโรปประจำ สปป. ลาว ระบุว่า ร้อยละ 70 ของธุรกิจการบริการที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะสูญเสียรายได้มากกว่าร้อยละ 50 ปัญหาดังกล่าวจะจำกัดความสามารถในการปล่อยกู้ให้ภายในประเทศของธนาคารอย่างน้อย 1 – 2 ปี
[su_spacer]
สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวประเมินว่า อาจมีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะไม่สามารถชำระต้นทุนและดอกเบี้ยได้ ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะจำกัดความสามารถการปล่อยกู้ของธนาคารในระยะ 1 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้ออกนโยบายใหม่เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ โดยปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในสกุลเงินท้องถิ่นและสกุลเงินตราต่างประเทศ และให้ธนาคารพาณิชย์และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ต่ำกว่าปกติเพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
[su_spacer]