ด้วยปรากฏข่าวในสื่อท้องถิ่นของ สปป. ลาว ว่ามีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในแขวงภาคเหนือของ สปป. ลาว สถานเอกอัครราชทูตได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแขนงเลี้ยงสัตว์และการประมง แผนกกสิกรรมและป่าไม้ แขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำท่าเกี่ยวกับการระบาดดังกล่าว สำหรับแขวงบ่อแก้ว ตรวจพบโรค ASF ในฟาร์มสุกร 2 แห่งของคนลาว แขวงบ่อแก้วจึงสั่งปิดฟาร์มทั้ง 2 แห่ง และฆ่าสุกรติดเชื้อ ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563 ห้องว่าการแขวงบ่อแก้วได้ออกแจ้งการระงับการนําเข้าและเคลื่อนย้ายเนื้อสุกร พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สุกร ลูกสุกร และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรทุกชนิดจากต่างแขวงและต่างประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจตรา รวมทั้งด่านต่าง ๆ อย่างเข้มงวด หากพบเห็นรถขนสุกรมีชีวิตจะส่งกลับคืนต้นทาง และหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทําจากสุกรให้ยึดและทําลาย พร้อมทั้งเรียกค่าปรับ ตามระเบียบด้วย แขวงบ่อแก้วแจ้งเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแขวงยังมีผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแช่แข็งในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับโรค ASF จึงหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นแทน
[su_spacer]
แขวงหลวงน้ำทา ตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 2563 พบสุกรตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แผนกกสิกรรมฯ แขวงหลวงน้ำทา จึงลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและพบว่าสุกรติดโรค ASF จึงให้ระงับการนําเข้าสุกรทุกประเภทจากพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันฟาร์มสุกร 3 แห่ง (จาก 13 แห่ง) ในแขวงหลวงน้ำทาได้รับผลกระทบจากการระบาดดังกล่าว มีสุกรตาย 1,295 ตัว และถูกฆ่าตาย 767 ตัว ต่อมาพบว่าการระบาดของโรคดังกล่าวขยายวงกว้างไปยัง 4 เมือง (จากทั้งหมด 5 เมือง) ได้แก่ เมือง หลวงน้ำทา เมืองสิง เมืองเวียงพูคา และเมืองลอง ห้องว่าการแขวงอยู่ระหว่างยกร่างแจ้งการเพื่อควบคุมการระบาดและจํากัด การนําเข้าสุกรจากพื้นที่ใกล้เคียง สําหรับการบริโภคสุกรภายในแขวงส่วนใหญ่นําเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากบริษัท ซี.พี. ลาว จํากัด ซึ่งทําโครงการจ้างเลี้ยงสุกรขุน (contract farming) ในแขวงหลวงพระบาง และบริษัท เบทาโกร (ลาว) จํากัด สาขานครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีใบรับรองการปลอดโรคจากศูนย์วิจัยโรคสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูตได้สอบถามสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ บริษัท ซี.พี.ฯ และบริษัท เบทาโกรฯ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการระบาดของโรค ASF ดังกล่าวและได้รับแจ้งว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรในภาคเหนือของ สปป. ลาวเป็นการขนส่งมาจากนครหลวงเวียงจันทน์ ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการระงับการนําเข้าชั่วคราวดังกล่าว บริษัท ซี.พี.ฯ และบริษัท เบทาโกรฯ นําเข้าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สุกร ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร และวัตถุดิบ อาหารสัตว์จากไทยทางด่านใน จ.หนองคาย มุกดาหาร และอุบลราชธานี
[su_spacer]