เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว ในฐานะหัวหน้าคณะเฉพาะกิจด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือในการเตรียมแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ของคณะเฉพาะกิจด้านเศรษฐกิจฯ โดยมีรัฐมนตรี รองรัฐมนตรี และคณะเฉพาะกิจด้านเศรษฐกิจฯ ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายคอนสะหวัน ราชมุนตี รองรัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว สปป. ลาว รายงานผลกระทบที่สื่อมวลชนได้ติดตามว่า การจำหน่ายและบริโภคสินค้าทั่วไปลดลง เนื่องจากร้านค้าจำนวนหนึ่งได้ปิดร้านชั่วคราวตามการแจ้งและคำสั่งของภาครัฐ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าที่ตลาดสดนั้นมีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีการอยู่บ้านมากขึ้น หรือมีการกักตุนอาหาร เปลี่ยนพฤติกรรมไปตลาดในตอนเช้าเพื่อลดความแออัด ในขณะที่ราคาสินค้ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และยังไม่มีการขาดแคลนสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน
สำหรับผลกระทบด้านการท่องเที่ยว สืบเนื่องจากมาตรการปิดด่านพรมแดนและมิให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้า สปป. ลาว ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา รวมทั้งการปิดสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรงแรม 637 แห่ง รีสอร์ทและบ้านพัก 2,283 แห่ง บริษัทท่องเที่ยว 539 บริษัท ตัวแทนบริษัทท่องเที่ยว 36 แห่ง และพนักงานนำเที่ยวกว่า 2,000 คน ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นข้อเสนอและข้อคิดเห็นเดิมที่เคยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลมีนโยบายพิเศษลดการชำระหรือเลื่อนการชำระเงินกู้ธนาคาร
2. ลดการชำระภาษีกำไรของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งค่าไฟและค่าน้ำประปา เพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้
3. สนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้
4. ส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว โดยปรับลดค่าสัมปทาน หรือยกเว้นค่าสัมปทานในช่วงนี้ เพื่อให้บริษัทท่องเที่ยวมีทุนในการพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาชำระภาษี หรือ การขยายเวลาการชำระหนี้ เพื่อเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ การที่ภาคเอกชนใน สปป. ลาว ได้มีการนำเสนอมาตรการเยียวยาดังกล่าวต่อภาครัฐ ได้แสดงถึงความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ใน สปป. ลาว ที่ร่วมกันเสนอมาตรการเยียวยาต่อรัฐบาล ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่มีการลงทุนใน สปป. ลาว และได้รับผลกระทบ เนื่องจากข้อจำกัดทางการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง หรือต้องปิดกิจการชั่วคราว ควรพิจารณาติดตามข้อมูลข่าวสาร ความคืบหน้าของนโยบายและมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจของ สปป. ลาว อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้สามารถได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยใน สปป. ลาว นั้นควรสนับสนุนให้พนักงานเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการติดเชื้อด้วย
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์