สปป. ลาวกำหนดให้การผลิตสินค้าเกษตรเป็นแผนงานที่มีความสำคัญลำดับต้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายในการสร้างรายได้และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนท้องถิ่นให้หลุดพ้นจากความยากจนและออกจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ภายในปี 2567 เพื่อเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 โดยรัฐบาลมีการส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วประเทศเลี้ยงโคและกระบือเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน เนื่องจากความต้องการของตลาดจีนเพิ่มขึ้น และเป็นการใช้ประโยชน์ในการขนส่งปศุสัตว์ผ่านทางรถไฟลาว – จีน ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2564
รัฐบาล สปป. ลาวได้ก่อตั้งโครงการเลี้ยงโคเพื่อส่งออกไปจีน มีระยะเวลา 8 ปี (2564 – 2571) โดยได้ตั้งเป้าหมายคือเลี้ยงโคให้ได้มาตรฐาน 50,000 ตัวต่อปี และสร้างฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 100 แห่ง เพื่อออกลูกได้ประมาณ 500 ตัวต่อรอบ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลของทั้งสองประเทศที่ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2562 โดยรัฐบาล สปป. ลาวได้รับโควตาการส่งออกโคและกระบือจากรัฐบาลจีนจำนวน 500,000 ตัวต่อปี
เป้าส่งออกไปจีนที่รัฐบาลได้ตั้งไว้คือส่งออกให้ได้ 200,000 ตัวต่อปีจนถึงปี 2566 และจะขยับเพิ่มเป้าส่งออกไปที่ 500,000 ตัวต่อปี ในปี 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในจำนวนโควตา 500,000 ตัวต่อปีนั้นเป็นโควตารวม โดยการนำเข้าไปจีนแต่ละครั้งจะมีโควตาเฉพาะ โดยอ้างตามจำนวนสัตว์ที่มีและสามารถรวบรวมในเขตกักกันสัตว์ได้ โดยรัฐบาลจีนจะออกใบอนุญาตนำเข้าให้ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เมืองหล้าเฉิงค้าง พัฒนาอาหารกสิกรรม จำกัด บริษัท ลาวโกทงพัฒนากสิกรรม และบริษัท สิบสองปันนาเยหง การค้าเพื่อผลัดเปลี่ยนกันขอโควตานำเข้าสัตว์ใหญ่
นอกจากโควตาการส่งออกสัตว์ใหญ่แล้ว ฝ่ายจีนยังยกเว้นภาษีบางรายการสินค้าให้แก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด 16 ประเทศ รวมถึง สปป. ลาว ซึ่งคาดว่าการเชื่อมโยงระหว่างลาว-จีน รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ อาทิ การผ่อนผันหรือยกเว้นภาษีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ การอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบต่าง ๆ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะสร้างโอกาสใหม่สำหรับความร่วมมือด้านเกษตรระหว่าง สปป. ลาวและจีนเพิ่มขึ้น
ในปี 2564 สปป. ลาว เลี้ยงโคทั้งหมด 2,263,100 ตัว และกระบือ 1,239,000 ตัว การส่งออกสัตว์ใหญ่ไปจีนอย่างเป็นทางการตามข้อกำหนด สปป. ลาวสามารถส่งออกสัตว์ใหญ่เพื่อทดลองระบบ จำนวน 2,013 ตัว ประกอบด้วยโค 1,992 ตัวและกระบือ 21 ตัว ในจำนวนโควตาไม่เกิน 3,000 ตัว อย่างไรก็ตาม ลาวเกิดโรคติดต่อทางผิวหนังระบาดในโคและกระบือในเดือนพฤษภาคม 2564 ทางการจีนจึงหยุดนำเข้าสัตว์ใหญ่และผลิตภัณฑ์ประเภทโคและกระบือจาก สปป. ลาว ชั่วคราว และล่าสุดเดือนมีนาคม 2565 สปป. ลาวขอเจรจาเปิดตลาดส่งออกสัตว์ใหญ่อีกครั้ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งออกโคและกระบือไปจีนชุดต่อไป
แม้ว่าลาวจะได้รับสิทธิประโยชน์หลายด้าน แต่ยังไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์เหล่านั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากการผลิตและเลี้ยงสัตว์ในลาวส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงตามธรรมชาติ ผู้เลี้ยงโคและกระบือจำเป็นต้องพัฒนาการเลี้ยงให้ได้ตามข้อกำหนดและมาตรฐานของจีน ซึ่งกำหนดให้โคและกระบือต้องมีอายุไม่เกิน 4 ปี น้ำหนัก 350 กิโลกรัมขึ้นไปและปลอดโรค ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากพบการระบาดของโรคในสัตว์ โดยเฉพาะโรคปากเท้าเปื่อยและอื่น ๆ อยู่เป็นระยะ ผู้ประกอบการไทย จึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการหมั่นพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าส่งออก เพื่อโอกาสส่งออกที่สูงขึ้น สอดรับกับความต้องการตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์