สปป.ลาว ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่างประเทศให้ความสนใจ ด้วยความงดงามของธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย รวมทั้งประวัติศาสตร์ ที่ยาวนานและมีเรื่องราวน่าสนใจในทุกท้องถิ่น ทำให้สปป. ลาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและมีจุดเด่นเรื่องการอยู่ร่วมกันด้วยอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนเผ่า ส่งผลให้งานหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นสินค้าของฝากที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อหาเพื่อนำกลับไปเป็นที่ระลึกหรือของขวัญเมื่อเดินทางกลับ
ความท้าทายของผู้ประกอบการ
แม้จะมีโอกาสในการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นสำหรับตลาดนักท่องเที่ยว แต่ผู้ประกอบการใน สปป. ลาว ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดความสนใจและเหมาะสมสำหรับการเดินทาง การพัฒนาคุณภาพสินค้าบางชนิดให้มีมาตรฐานสูงขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในฤดูกาลท่องเที่ยว และอีกหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญคือ การทำตลาดและการสร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์ท้องถิ่น ผู้ประกอบการหลายรายยังจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการตลาด อาทิ การใช้สื่อออนไลน์เพื่อส่งเสริมการขาย และการพัฒนาปรับปรุงเทคนิคการทำการตลาดที่เหมาะสม โดยผู้ประกอบการท้องถิ่นจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และสร้างความโดดเด่นให้สินค้าเพื่อให้เกิดความแตกต่าง มีคุณค่าและเอกลักษณ์ เป็นที่จดจำ และดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว โดยสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ และในวงกว้าง เพื่อให้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์และสินค้าเป็นที่นิยม นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
โอกาสในการพัฒนา
ผู้ประกอบการของ สปป.ลาว สามารถใช้ประโยชน์จากความสนใจของนักท่องเที่ยวสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความเป็นท้องถิ่นแท้จริง และพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นและงานหัตถกรรมชุมชนหรือชนเผ่ามาใช้ในกระบวนการผลิตงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ยากจะลอกเลียนแบบ และมีชื่อเสียงของ สปป. ลาว คือผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย และผ้าไหมทอมือ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อของฝากที่สวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ด้วยลวดลายต่าง ๆ อาทิ พญานาค ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) ลายหงส์ ลายไก่ฟ้า ฯลฯ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านของลาวผ่าน การทอที่ประณีตและใช้ฝีมือและทักษะการทอที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ้าทอมือจากหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น ผ้าซิ่นลาวจากเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน และแขวงอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง มีกระแสตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่นิยมงานหัตถกรรมที่มีความละเอียดประณีต มีคุณค่าทางศิลปะ การส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักผ่านช่องทางออนไลน์และการพัฒนาสร้างความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น จะสามารถช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ ความน่าสนใจ และความต้องการในตลาดมากยิ่งขึ้น
แนวทางการพัฒนาตลาดของฝากในอนาคต
ในการพัฒนาตลาดของฝากใน สปป.ลาว ผู้ประกอบการควรเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความประทับใจและสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ หรือ เน้นคุณค่าของผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม การทำการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์ และแตกต่างจากสินค้าทั่วไป รวมถึงการพัฒนาทักษะเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์และการทำการตลาดผ่านช่องทางจัดจำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทร์
บทความโดย : ณัฐกมล คงยงค์
อ้างอิง
(1) https://blog.naver.com/gj30603/223429705176
(2) https://www.ditp.go.th/contents_attach/79276/79276.pdf
(3) https://www.traveloka.com/th-th/explore/destination/best-laos-souvenirs/360282