ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจลาวได้รับผลกระทบจาก COVID-19
.
รายงานสภาพเศรษฐกิจลาวและการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 (ฉบับเดือนสิงหาคม 2564) ของธนาคารโลกระบุว่า จากการสํารวจบริษัทจํานวน 421 แห่ง ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 พบว่า การระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก และส่งผลกระทบต่อยอดขายเป็นอย่างมาก โดยลดลงถึงร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 31 โดยบริษัทและธุรกิจ SMEs ในนครหลวงเวียงจันทน์และ แขวงหลวงพระบางนั้นได้รับผลกระทบมากกว่าในแขวงอื่น และ 1 ใน 3 ของธุรกิจครอบครัวต้องปิดตัวลง ในขณะที่ร้อยละ 50 ของบริษัทที่ทําการสํารวจยังคงเปิดอยู่ หากแต่มีรายได้ที่ลดลง
.
นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้ครัวเรือนต่าง ๆ สูญเสียรายได้มากกว่าร้อยละ 25 และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงงานลาวกว่า 246,000 คน เดินทางกลับมาจากต่างประเทศตั้งแต่การระบาดผ่านมา อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวหลังการล็อกดาวน์ครั้งแรกในปี 2563 แต่สถานการณ์ COVID-19 ที่ยืดเยื้อส่งผลให้ผลประกอบการชะลอตัวเนื่องจากการจํากัดการเดินทาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า และกิจกรรมทางการเกษตรจํานวนมาก โดยเฉพาะ ภาคบริการ ที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในการชําระเงิน
.
นอกจากนี้ ข้อมูลของธนาคารโลกยังระบุว่า กว่าร้อยละ 50 ของบริษัททั้งหมดได้ประสบปัญหาขาดแคลนกระแสเงินสด ส่งผลให้การชําระเงินล่าช้า ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กังวลว่าการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้ออาจทําให้ให้บริษัทต่าง ๆ ชะลอการลงทุนและมีการใช้จ่ายน้อยลง ทําให้มีโอกาสในการฟื้นตัวน้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม การระบาดของเชื้อ COVID-19 อาจส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทํางานในระยะยาว โดยประมาณร้อยละ 16 ของบริษัทต่าง ๆ ได้ลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล หรือนําวิธีการจัดส่งแบบใหม่มาใช้เพิ่มขึ้น
.
ADB คาดการณ์เศรษฐกิจลาวจะฟื้นตัวช้าลง
.
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์การพัฒนาเอเชีย ประจําปี 2564 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งคาดการณ์เศรษฐกิจ สปป. ลาว ในปี 2564 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ร้อยละ 4 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2565
.
นาง Sonomi Tanaka ผู้อํานวยการสํานักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) ประจําสปป. ลาว กล่าวว่า นโยบายจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ส่งผลให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมลดลง และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเติบโตของภาคการค้าปลีก การขนส่ง และการบริการการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ได้ทําให้เกิดอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะกลุ่มสตรี และผู้ด้อยการศึกษา จึงจําเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวให้เข้ากับการดํารงชีวิตแบบปกติใหม่
.
นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ในระดับร้อยละ 3.1 เงินกีบอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนทางการกับร้านแลกเปลี่ยนเงินตราของเงินกีบกับดอลลาร์สหรัฐมีส่วนต่างกว่าร้อยละ 20 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนเงินสกุลต่างประเทศ ภายหลังจากการชําระหนี้สาธารณะกับต่างประเทศเป็นจํานวนมาก รวมทั้งการจัดเก็บรายรับที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดการระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งทําให้การคลังของภาครัฐยังคงมีข้อจํากัดอยู่
.
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสปป. ลาวจะได้รับอานิสงค์จากการออกใบอนุญาตดําเนินกิจการเหมืองแร่และรายได้จากการส่งออกไฟฟ้า รวมทั้งการเปิดให้บริการของรถไฟลาว – จีน และจากการเก็บเกี่ยวข้าวและพืชผักต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศ การใช้มาตรการใหม่เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อ COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตาม มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้กับการคุ้มครองเศรษฐกิจมหภาคและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยังคงเป็นสิ่งจําเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศและครัวเรือน
.
สปป. ลาวเป็นประเทศที่ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การเป็นแหล่งลงทุนด้านฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้มีนโยบายส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการในสปป. ลาวได้ 100% อย่างไรก็ตาม การปิดด่านชายแดนในช่วงการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกไม่น้อย แต่สถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายลงในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์การทยอยเปิดด่านการค้า และกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและสปป. ลาว โดยขณะนี้ สปป. ลาวได้เร่งสนับสนุนการส่งออกสินค้าการเกษตร เช่น น้ำตาล กาแฟ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการผลิต และแปรรูปสินค้า OTOP ร่วมกับไทย ในขณะที่มีความนิยมนำเข้าสินค้าผ่านแดนจากไทยในหลายประเภท เช่น รถยนต์ ส่วนประกอบและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าการเกษตร นอกจากนี้ การลงทุนร่วมกับสปป. ลาว ในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล และการขนส่งที่รวดเร็ว ซึ่งสามารถติดตามและสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ที่สะดวกนั้น นับเป็นสาขาที่น่าจับตามองเช่นกัน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์