ดร. คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป. ลาว ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านพลังงานและเหมืองแร่ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาว่า ในช่วงก่อนปี 2518 การลงทุนและการพัฒนาด้านพลังงานใน สปป. ลาวมีไม่มากเท่าที่ควร มีเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เพียง 1 แห่ง คือ เขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์ เขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 แห่ง คือ เขื่อนน้ำดง แขวงหลวงพระบาง มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ และเขื่อนเซละบำ แขวงจำปาสัก มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ และมีเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันสำหรับในเมืองใหญ่จำนวนหนึ่ง ขณะนั้น สปป. ลาวมีไฟฟ้าใช้ใน 5 เมืองใหญ่ ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง คำม่วน สะหวันนะเขต และจำปาสัก 19,000 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชาชนทั้งประเทศ
.
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2518 รัฐบาล สปป. ลาวได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านพลังงานและเหมืองแร่เรื่อยมา โดยในปี 2540 สปป. ลาวได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยไฟฟ้าและออกนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีนักลงทุนจากหลายประเทศเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะรูปแบบโครงการผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) และอุตสาหกรรมพลังงานขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้
.
1. ด้านพลังงาน ปัจจุบัน สปป. ลาวมีแหล่งผลิตไฟฟ้า 78 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 9,972 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 52,211 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง โครงการพลังงานไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่งและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 6 แห่ง โดยคาดว่าในช่วงปลายปี 2563 จะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ก่อสร้างสำเร็จเพิ่มอีก 13 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 732 เมกะวัตต์ และจะมีแหล่งผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 90 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 10,704 เมกาวัตต์
.
2. ด้านระบบสายส่ง สปป. ลาวมีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กลาง และต่ำทั้งหมด 65,563 กิโลเมตร และมีสถานีจ่ายไฟฟ้า 74 แห่ง
.
3. ด้านการซื้อขายไฟฟ้ากับต่างประเทศ สปป. ลาวขายไฟฟ้าให้ต่างประเทศ 6,935 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยไทย 5,935 เมกะวัตต์ เวียดนาม 570 เมกะวัตต์ กัมพูชา 320 เมกะวัตต์ และเมียนมา 10 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ สปป. ลาวยังเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าแบบเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก สปป. ลาวไปยังไทยและมาเลเซียจำนวน 100 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเจรจาการซื้อขายไฟฟ้าต่อไปยังสิงคโปร์ ในอนาคตคาดว่าสปป. ลาวจะส่งออกไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตาม MoU ความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย 9,000 เมกะวัตต์ กัมพูชา 6,000 เมกะวัตต์ และเวียดนาม 5,000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะส่งออกครบตามจำนวนเมกะวัตต์ดังกล่าวภายในปี 2573
.
4. ด้านการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ สปป. ลาวสามารถจ่ายไฟฟ้าไปยังบ้านเรือน ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ชลประทาน ปศุสัตว์ หัตถกรรม การบริการ การท่องเที่ยว และคมนาคมขนส่งในปริมาณเพียงพอ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการผลิตสินค้าและสร้างการจ้างงาน ปัจจุบันร้อยละ 95 ของจำนวนครัวเรือนใน สปป. ลาว มีไฟฟ้าใช้เป็นการถาวร
.
5. ด้านเหมืองแร่ ปัจจุบัน สปป. ลาวขุดพบแร่ธาตุ ได้แก่ ทอง ทองแดง เงิน นิกเกิล ตะกั่ว ถ่านหิน บอกไซต์ ยิปซั่ม เหล็ก อัญมณี เกลือ เกลือโพแทสเซียม ตะกั่ว สังกะสี แมงกานีส หินปูน โดโลไมต์ แบไรต์ ในพื้นที่กว่า 570 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 162,104 ตร.กม. คิดเป็นร้อยละ 68.46 ของประเทศ นับตั้งแต่ปี 2533 รัฐบาล สปป. ลาวได้อนุญาตให้ผู้ลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาวได้อนุญาตให้บริษัทลงทุนในกิจการธรณีศาสตร์และเหมืองแร่แล้ว 214 บริษัท ใน 319 กิจการ ซึ่งอยู่ระหว่างขุดค้น 21 บริษัท 28 กิจการ สำรวจ 70 บริษัท 83 กิจการ ศึกษาความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจและทางเทคนิค 43 บริษัท 67 กิจการ ขุดค้นและแปรรูป 80 บริษัท 141 กิจการ บนพื้นที่ทั้งหมด 7,281,047.42 เฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 30.75 ของพื้นที่ประเทศ
.
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาคพลังงานและเหมืองแร่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป. ลาว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้เข้ารัฐ 2,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ด้านพลังงาน 1,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และด้านเหมืองแร่ 838 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ประกอบด้วยค่าสัมปทาน ค่าทรัพยากร ภาษีกำไร ภาษีรายได้ ภาษีเงินปันผล และเงินปันผล
.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 และเว็บไซต์ Lao Post วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
https://bit.ly/3lDmAfF
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์