เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 นายทองสุก เปาสุลี หัวหน้าแผนกแผนการและการลงทุนแขวงพงสาลี ในฐานะผู้แทนองค์การปกครองแขวงพงสาสี และนายเชินปิง ประธานกลุ่มบริษัท Yujia ลงทุน จำกัด ประเทศจีน ร่วมลงนาม MoU เพื่อศึกษา สำรวจ และเก็บข้อมูลความเป็นไปได้ในการพัฒนาและก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว – จีน – เวียดนาม ที่เมืองยอดดู แขวงพงสาลี การพัฒนาและก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว – จีน – เวียดนาม ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) การศึกษาและสำรวจที่ดิน สถานที่ และพื้นที่ทำการผลิตของประชาชน (2) การศึกษา สำรวจ และออกแบบโครงการก่อสร้างเส้นทางบ้านใหญ่อูเหนือถึงชายแดน 3 ประเทศ (3) การศึกษาและสำรวจพื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น เขตบริการและการท่องเที่ยว 100 ตารางกิโลเมตร และเขตการเกษตรและอุตสาหกรรม 150 ตารางกิโลเมตร (4) การศึกษา สำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ด้านสภาพที่ดิน ธรรมชาติ เศรษฐกิจและสังคม และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม
.
การสำรวจและเก็บข้อมูลในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเบื้องต้นเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา เมื่อสำรวจและเก็บข้อมูลแล้วเสร็จ บริษัทฯ จะกำหนดเขตพัฒนาอย่างละเอียด แล้วรายงานต่อองค์การปกครองแขวงพงสาลี และเสนอให้รัฐบาล สปป. ลาวพิจารณาให้สอดคล้องกับระเบียบ ขั้นตอน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องของ สปป. ลาวต่อไป โดย MoU ฉบับนี้มีอายุ 18 เดือน ซึ่งบริษัทฯ จะต้องเริ่มปฏิบัติงาน 30 วัน นับตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป
.
จะเห็นได้ว่าหากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว – จีน – เวียดนาม นี้สามารถดำเนินการได้สำเร็จ คาดว่าจะช่วยดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามา รวมถึงจะเป็นการกระจายเม็ดเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างทั้ง 3 ประเทศได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ จึงควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทย สปป. ลาว และเวียดนาม มีลักษณะภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้มีสินค้าบางชนิดที่สามารถผลิตได้เหมือนกัน ซึ่งในอนาคตหากโครงการเศรษฐกิจนี้ประสบความสำเร็จ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบไทยในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเกษตร ที่อาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาได้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ หรือขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์