ปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาวให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศชาติ นางกิ่งแก้ว จันทะลังสี ผู้อำนวยการบริษัท บอลิคำไซ การฟาร์มพัฒนา ส่งเสริมกสิกรรม จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีสินค้าต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาใน สปป. ลาวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง ตนจึงตัดสินใจทำธุรกิจผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการส่งเสริมของพรรคและรัฐบาล สปป. ลาว เพื่อส่งออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะจีน
.
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 ของช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และในอนาคตคาดว่า สปป. ลาวและเวียดนามจะส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศเช่นกัน โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกรองรับ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกทุเรียนของ สปป. ลาวเติบโต เนื่องจาก สปป. ลาวมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศนั้น ๆ จาก 16 ประเทศ เช่น จีน อิตาลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย
.
ในช่วงเริ่มต้นบริษัทฯ ได้ลงทุนปลูกกล้วยบนเนื้อที่ประมาณ 300 เฮกตาร์ ในแขวงบอลิคำไซ เพื่อส่งออกไปจีน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่น่าพอใจ แต่ในปี 2562 ราคากล้วยในตลาดมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 จึงหันมาปลูกทุเรียนและขนุนแทน เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการค่อนข้างสูง และให้รายได้มั่นคงแม้ว่าจะใช้เวลาปลูกหลายปีก็ตาม โดยใช้พื้นที่เดิมที่ใช้ปลูกกล้วยมาปลูกทุเรียน
.
และขนุนแทน และจะขอสัมปทานที่ดินจากรัฐเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เองก็มีตลาดจีนรองรับแล้ว สำหรับพันธุ์ทุเรียนและขนุนที่ใช้ปลูกจะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้ปลูกไปแล้วบางส่วน คาดว่าจะสามารถส่งออกทุเรียนได้ในปี 2567 ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วการปลูกทุเรียนจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 – 5 ปี และขนุนจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัจจุบันบริษัทฯ ได้สร้างงานให้หลายร้อยคนทั้งที่อยู่ในสวนกล้วย สวนทุเรียนและขนุน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ก่อตั้งโรงเรียนประถมศึกษา และก่อสร้างทางเข้าหมู่บ้านอีกด้วย
.
สถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนที่สำคัญ และในปี 2563 คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยนอกจากการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางแล้ว ไทยยังมีช่องทางการจำหน่ายในรูปแบบ E-commerce ซึ่งช่วยให้มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน สปป. ลาวยังคงใช้ช่องทางการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว และผลผลิตที่ได้ยังนับว่าเป็นสินค้าใหม่ในมุมมองของผู้บริโภค เมื่อเทียบกับความนิยมในการบริโภคและความเชื่อมั่นในผลไม้ไทย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์