เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ในฐานะคณะเฉพาะกิจรับผิดชอบติดตามผลกระทบและการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้จัดทำรายงานเสนอให้รัฐบาล สปป. ลาวพิจารณานโยบายและมาตรการลดผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจลาว ทั้งในช่วงการแพร่ระบาดและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้
[su_spacer]
- เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและมาตรการเฉพาะเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการผลิตของทุกภาคส่วนให้สามารถกลับมาผลิตสินค้าและให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คาดว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจใช้ระยะเวลาประมาณ28 เดือน
- กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินมีสภาพคล่องและเป็นแหล่งเงินทุนให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อตกลงของธนาคารแห่ง สปป. ลาว ว่าด้วยนโยบายสินเชื่อเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 รวมทั้งมาตรการเร่งด่วนประกอบด้วยการผ่อนผันข้อกำหนดผ่อนชำระเงินทุน การปล่อยเงินกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ การสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนภาระผูกพันสกุลเงิน การจัดตั้งกองทุนค้ำประกันเงินกู้ การปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินให้สถาบันการเงิน MSMEs และการปล่อยเงินกู้ของกองทุนส่งเสริม SMEs
- พิจารณาเข้าร่วมโครงการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมหภาคและเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจลาว
- พัฒนาการบริการหุ้นนอกตลาด โดยการอนุญาตจัดตั้งกองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity-PE)ผู้ร่วมลงทุน (Venture Capital-VC) และการบริการอื่น ๆ เพื่อระดมทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ
- พิจารณาขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือด้อยประสิทธิภาพเพื่อนำมาเป็นงบประมาณของรัฐ โดยต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความโปร่งใสและยุติธรรม
- พิจารณาจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคการผลิต และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อย380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 2 ของ GDP ปี 2562 โดยจัดสรรให้ภาคธุรกิจประมาณ 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 40 ของงบประมาณดังกล่าว
- กำหนดนโยบายและมาตรการด้านภาษีอากร ประกอบด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ5 (ลดลงร้อยละ 50) และการยกเว้นภาษีกำไรให้แก่กิจการที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลา 28 เดือน เริ่มจากเดือน ก.ค. 2563
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจและลดอันดับEase of Doing Business จากอันดับที่ 154 โดยใช้เวทีการประชุม Lao Business Forum ในการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ร่วมกับภาคธุรกิจ และการจัดตั้งคณะประสานงานภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อติดตามและประเมินผลการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันวางแผน ตรวจสอบ และประเมินแผนงานและโครงการของรัฐบาล พร้อมทั้งผลักดันและส่งเสริมการผลิตสินค้า การอุปโภคและบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และการควบคุมการนำเข้าสินค้าอุปโภค การพัฒนาระบบการศึกษาด้านเทคนิควิชาชีพ และการพัฒนาและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว
[su_spacer]
สภาการค้าฯ จัดตั้งโครงการนำร่องเพื่อริเริ่มการฟื้นฟูภาคการผลิต ประกอบด้วย (1) โครงการปรับปรุงระบบกู้ยืมให้กับกลุ่มชาวสวนและ MSMEs ในนครหลวงเวียงจันทน์ (2) โครงการสนับสนุนสินเชื่อจากกองทุน SMEs (3) โครงการฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยว (4) โครงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมแปรรูป และ (5) โครงการจัดตั้งหน่วยงานให้คำปรึกษาแก่ SMEs (SMEs Clinic) ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งจะปรับปรุงยุทธศาสตร์และแผนงานระยะ 5 ปี (2564 – 2568) ของสภาการค้าฯ ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
[su_spacer]