ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาวได้ตรวจสอบ ประเมินผล และถอดบทเรียน เพื่อพัฒนางานภาคพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป. ลาวให้ดียิ่งขึ้น ในปี 2563 การผลิตของภาคพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป. ลาวมีมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 322 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือร้อยละ 102 ของแผนประจําปี แบ่งเป็นมูลค่าการผลิตของภาคพลังงาน 2,227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือร้อยละ 98 ของแผนประจําปี และเหมืองแร่ 1,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา หรือร้อยละ 113 ของแผนประจําปี
.
ในปี 2563 โครงการผลิตไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมี 4 แห่ง รวมกําลังการผลิตติดตั้ง 537 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,139 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ปัจจุบัน สปป. ลาวมีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า 81 แห่ง รวมกําลังการผลิตติดตั้ง 10,328 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 53,640 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี มีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กลาง และต่ำ รวมความยาวทั้งสิ้น 67,643 กิโลเมตรต่อวงจร และสถานีไฟฟ้า 84 แห่ง ปัจจุบัน อัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนคิดเป็นร้อยละ 95 ของจํานวนครอบครัวทั่วประเทศ
.
ด้านการพัฒนาธรณีศาสตร์ แร่ธาตุ และเหมืองแร่ ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขุดค้นและสํารวจแร่ธาตุจํานวน 212 บริษัท ใน 316 กิจการ แบ่งออกเป็นด้านธรณีศาสตร์ 91 บริษัท ใน 113 กิจการ และเหมืองแร่ 121 บริษัท ใน 203 กิจการ นอกจากนี้ ในปี 2563 กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาวได้ติดตามและตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อนไฟฟ้าและได้จัดตั้งสมาคมเขื่อนลาวขึ้น ซึ่งได้รับการรับรองการเป็นสมาชิกสมาคมเขื่อนใหญ่ระหว่างประเทศ (International Commission on Large Dams: ICOLD) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 โดยเป็นสมาชิกลําดับที่ 104
.
กระทรวงพลังงานฯ ยังได้ยกระดับการพัฒนาและบริหารจัดการสายส่งแห่งชาติจากความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวไปสู่การก่อตั้งบริษัท EDL-T เพื่อระดมทุนจากภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อลดการลงทุนและหนี้สินของรัฐและรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว
.
เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมหลักของสปป.ลาว รัฐบาลสปป.ลาวจึงสนับสนุนการลงทุนในเหมืองแร่ทั้งในและต่างประเทศ และยังสามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตและGDP ได้อย่างสูงภายใต้วิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่หลากหลายที่ หากแต่มีมูลค่าผลผลิต และอัตราการขยายตัวที่ลดลงในปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยการควบคุมการส่งออกยิปซัมโดยภาครัฐ สปป.ลาวจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมภาคพลังงานและเหมืองแร่ เนื่องจากมีการผลักดันโดยรัฐบาลสปป.ลาว บริษัทไทยสามารถใช้ช่องทางในฐานะสมาชิก International Commission on Large Dams (ICOLD) ในการเสริมสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านเหมืองแร่กับสปป.ลาว อีกทั้งยังควรศึกษานโยบาย กฎระเบียบ ขั้นตอนการลงทุนในต่างประเทศให้ละเอียดถี่ถ้วน และคำนึงถึงผลกระทบในด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบน้อยที่สุด
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์