เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว เป็นประธานการประชุมสรุปแผนการ การลงทุน และการเงิน ประจำปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 โดยพบว่าปี 2564 GDP ของ สปป. ลาวจะขยายตัวร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าที่สภาแห่งชาติรับรองไว้ที่ร้อยละ 4 ขึ้นไป คิดเป็นมูลค่า 180.24 ล้านล้านกีบ รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,649 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ GNI ต่อหัวเท่ากับ 2,479 ดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16.7 ของมูลค่า GDP ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 4.9 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 33.9 ของมูลค่า GDP ภาคบริการร้อยละ 1.2 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 39.1 ของมูลค่า GDP และการเก็บภาษีอากรร้อยละ 2.8 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10.4 ของมูลค่า GDP
.
จากผลการปฏิบัติงานของภาคแผนการและการลงทุนในปี 2564 สามารถสรุปภาพรวมและปัญหาที่ยังคงค้างได้ ดังนี้
.
โดยสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมพบว่าเศรษฐกิจมหภาคยังคงประสบปัญหาจากผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 เช่น ราคาสินค้าบางประเภทปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาเงินตราต่างประเทศของธนาคาร การขนส่งสินค้าและขนส่งโดยสาร และกระแสแรงกดดันจากหนี้สาธารณะ ขณะที่ SMEs ยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐโดยเฉพาะการส่งเสริมและผลักดันในภาคการผลิตเพื่อส่งออกและทดแทนการนำเข้ายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรและการสนองแหล่งทุนให้ SMEs ยังมีความล่าช้า ในด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภค มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งต้องการการแก้ไขและดูแลระดับราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน ในด้านการฉีดวัคซีนยังมีความคืบหน้าจำกัด ขณะที่อัตราการว่างงานในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากแรงงานลาวที่กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ทั้งนี้ในปี 2565 คาดว่า GDP สปป. ลาวจะขยายตัวร้อยละ 4.5 มูลค่า 192.14 ล้านล้านกีบ รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,503 ดอลลาร์สหรัฐ GNI ต่อหัวอยู่ที่ 2,358 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าภาคการเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 5.3 ภาคบริการ ร้อยละ 4.5 และการเก็บภาษีอากร ร้อยละ 4
.
อย่างไรก็ดี ดร. สอนไซ กล่าวว่า ผลจากการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2564 นับว่ามีความคืบหน้าในหลายด้าน และช่วยให้ประเทศมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการบริหารงบประมาณ การลงทุนของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างก็มีความคืบหน้า อาทิ (1) โครงการทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว (2) โครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ (3) โครงการ Smart City แขวงหลวงน้ำทาและอุดมไซ และ (4) โครงการท่าบกท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งได้เปิดใช้ด่านสากลสินค้าอย่างเป็นทางการแล้ว
.
เนื่องจากสปป.ลาว ได้มีการวางแผนการลงทุนของภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถนำประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อได้ เช่น โครงการทางรถไฟลาว-จีน หรือ โครงการ Smart City แขวงหลวงน้ำทาและอุดมไซ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคและ SMEs ของไทยไปยังตลาดประเทศ CLMV และกลุ่มประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออกมากขึ้นต่อไปในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
.
ที่มา: เว็บไซต์ นสพ. เศรษฐกิจการค้า วันที่ 14 ธ.ค. 2564
https://aoedaily.com.la/2021/12/14/109347/