หนึ่งในความก้าวหน้าด้านการเชื่อมโยงที่สำคัญในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นโครงการทางรถไฟลาว – จีน ที่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 โดยมีนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เป็นประธานร่วมในพิธีเปิด ซึ่งนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยของสปป. ลาว และเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนชาวลาว ในโอกาสเฉลิมฉลองวันสถาปนา สปป. ลาว ครบรอบ 46 ปี และการครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตลาว-จีน นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนสําคัญในการเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked country) ให้สามารถเชื่อมโยงทางบกกับทั้งในและนอกภูมิภาค โดยจีนตั้งใจที่จะสานต่อความช่วยเหลือแก่ลาว ในด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างประเทศอีกด้วย
.
โครงการรถไฟลาว – จีน ไม่เพียงยกระดับการค้าระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน รวมถึงไทย ที่มีภูมิประเทศติดกับลาว โดยมีผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงโอกาสที่สำคัญและน่าติดตามไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้
.
นายโจ ฮอร์น พัฒโนทัย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท Strategy 613 จํากัด ที่ปรึกษาองค์กร เอกชนขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐในการลงทุนทําธุรกิจระหว่างไทยกับจีน กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทฯ สามารถขนส่งสินค้า รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์จากจีนมาไทยผ่านทางรถไฟลาว-จีน ได้แล้ว ซึ่งการเพิ่มการเชื่อมโยงประเทศกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรมและการค้า
.
รายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่า เส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็นส่วนสําคัญของโครงข่ายรถไฟทั่วเอเชีย ที่จะเชื่อมโยงนครคุนหมิง มณฑลยูนนานกับกรุงเทพ และสิงคโปร์ โดยปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมของไทย อยู่ระหว่างการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างพรมแดนแบบไร้รอยต่อ
.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเชื่อมโยงทางรถไฟถือเป็นโอกาสสําคัญ เนื่องจากปัจจุบันไทยให้บริการรถไฟโดยสารและขนส่งสินค้าไปยังสถานีท่านาแล้ง ในเวียงจันทน์ นอกจากนี้ ยังมีแผนจะสร้างสะพานแห่งที่ 2 ที่จังหวัดหนองคาย ไปยัง สปป. ลาว ซึ่งเชื่อมระหว่างไทยกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน
.
ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อํานวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยจําเป็นต้องเร่งเชื่อมโยงกับรถไฟลาว-จีน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศเร่งปฏิรูประบบโลจิสติกส์และการขนส่ง โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านเส้นทางทะเลจากไทยไปยังยุโรปและอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 200 ซึ่งสูงกว่าถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด โดยเส้นทางรถไฟลาว-จีน จะสามารถช่วยให้ไทยขนส่งสินค้าไปยังจีน เอเชียกลาง และในยุโรปที่เข้าร่วมในโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road)” ได้
.
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยและกลุ่มการก่อสร้างของจีนยังได้ลงนามในข้อตกลงสําหรับโครงการรถไฟ ความเร็วสูงจีน-ไทย ในระยะแรกที่จะเชื่อมโยงกรุงเทพ กับจังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยตั้งเป้าจะเปิดให้บริการในปี 2569 ซึ่งเส้นทางเหล่านี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าในเวลาที่สั้นลง สะดวกขึ้น และประหยัดต้นทุน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร และอาหารทะเลที่ต้องการความสดอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมด้าน E-commrece ทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการรักษามาตรฐานสินค้า เพื่อยกระดับศักยภาพโลจิสติกส์และสินค้าไทยสู่จีน และตลาดโลก ภายหลังเส้นทางรถไฟสู่ทวีปอื่น ๆ ภายใต้โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้รับการอนุมัติ
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก : http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2021-10/16/c_1310249763.htm