ในปี 2563 มีเหตุการณ์สําคัญเกิดขึ้นทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สปป. ลาว โดยเฉพาะการระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจ สปป. ลาวขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ ในขณะเดียวกันรัฐบาล สปป. ลาวได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ
.
IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ของ สปป. ลาว เช่น ไทย จีน เวียดนาม จะขยายตัวร้อยละ 2.7 8.1 และ 6.7 ตามลําดับ สําหรับเศรษฐกิจ สปป. ลาว จะปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 โดยมีปัจจัยสําคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับตัวเข้ากับวิถี New Normal ที่ลดการนําเข้าจากต่างประเทศและหันมาบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากขึ้น และการปรับปรุงภาคการผลิตและการบริการภายในประเทศให้ดีขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวจะช่วยผลักดันการผลิตในภาคการเกษตรโดยเฉพาะการเพาะปลูก รวมทั้งความต้องการแรงงานในหลายภาคส่วนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างงานและรายได้ให้ประชาชนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน คาดว่าตลาดต่างประเทศจะมีความต้องการสินค้าเกษตรของ สปป. ลาวเพิ่มขึ้น ราคาแร่ธาตุในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของ สปป. ลาวเพิ่มกําลังการขุดสำรวจและผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะแร่ทองและทองแดง ซึ่งแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ยังจะช่วยกระตุ้นการส่งออกและการบริการของ สปป. ลาวในปี 2564 ด้วย
.
นอกจากนี้ นโยบายปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยต่ำจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันการลงทุนภายในประเทศ โดยในปี 2563 รัฐบาล สปป. ลาวได้สนับสนุนเงินทุนวงเงิน 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับกองทุนส่งเสริม SMEs และคาดว่าในปี 2564 จะยังคงปล่อยสินเชื่อจากวงเงินดังกล่าว รวมทั้งวงเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารพัฒนาแห่งชาติจีน และอีก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารโลกเพื่อช่วยให้ SMEs ฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564 จะมีการผ่อนผันเงื่อนไขสําคัญในการเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าว และเงินทุนส่วนใหญ่จะถูกอัดฉีดเข้าในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาค การผลิตและการบริการของ SMEs ใน สปป. ลาว
.
โดยโอกาสในการพัฒนา และความท้าทายของ สปป. ลาวในอนาคตมีดังนี้
- โอกาสในการยกระดับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการสร้างฐานการผลิตใน สปป. ลาว
- โอกาสในการปรับปรุง ส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งในการผลิตภายในประเทศ ในช่วงการปิดด่านพรมแดน ซึ่งทําให้การนําเข้าสินค้าลําบากขึ้น
- โอกาสในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบเข้ากับวิถี New Normal ความสามารถในการขยายตลาดสินค้าให้กว้างขึ้นผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันและปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น
- ความท้าทายในการสกัดกั้นและป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดระลอกใหม่ เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน
- ความเปราะบางของเศรษฐกิจมหภาคทั้งด้านงบประมาณ การเงิน การคลัง และเงินสํารองระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความกดดันต่อการชําระหนี้สินของภาครัฐ และส่งผลต่อค่าเงินกีบ ทำให้ความเชื่อมั่นในการถือครองเงินกีบลดลง
.
การที่ สปป. ลาว มีแนวโน้มจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ได้ในอนาคตอันใกล้ จะส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าที่ใกล้เคียงกับ สปป. ลาว โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรไทย รวมถึงผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาจเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การที่รัฐบาล สปป. ลาว มีมาตรการในการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้า ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไป สปป. ลาว ของผู้ประกอบการไทยทำได้ยากขึ้นอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_125727