ชาวคูเวตมีความนิยมเดินทางมาไทย โดยก่อนสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มีชาวคูเวตเดินทางเยือนประเทศไทยถึงปีละกว่า 70,000 คน ซึ่งเป็นผลมาจาก Soft Power ของไทยช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศและสร้างความนิยมไทย อันนําไปสู่การเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย และในคูเวตมีความนิยมสินค้าและบริการของไทยมากขึ้น ได้แก่ อาหารไทย ผ้าไทย และนวดสปาไทย
.
(1) อาหารไทย ร้านอาหารไทยมีจำนวนกว่า 10 ร้าน ซึ่งเป็นที่นิยมมาก ร้านอาหารไทยได้รับการประชาสัมพันธ์ทั้งในหนังสือพิมพ์ Kuwait Times, The Times, AI-Qabas และ A-Rai อย่างต่อเนื่อง และลงข่าวในช่องทาง social-media ต่าง ๆ อาทิ Instagram รวมทั้งได้ออกรายการของสถานีโทรทัศน์ KTV2 ได้แก่ รายการ The Night Show และ The Journey รวมทั้งรายการพิเศษในเดือนรอมฏอนปี 2565 นอกจากนี้ มีการส่งเสริมให้ร้านสินค้าไทยออกงานของมหาวิทยาลัยคูเวตในเดือนพฤศจิกายน 2564
.
(2) ผ้าไทย คูเวตมีวัฒนธรรมการทอผ้าที่ยาวนานและสตรีคูเวตสนใจในผ้าประเภทต่าง ๆ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าของคูเวต (Sadu House) ได้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผ้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวตได้จัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยในปี 2562 และจัดเลี้ยงอาหารไทยในงานวันชาติ ณ Sadu House ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ร่วมงานและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก
.
(3) นวดสปาไทย ชาวคูเวตนิยมการนวดเพื่อสุขภาพของไทย และมีสถานบริการนวดสปาไทยจำนวน 12 แห่งในลักษณะแยกบริการหญิง-ชาย ซึ่งมีชาวไทยได้รับว่าจ้างให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากภาพลักษณ์ที่ดีและการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ร้านนวดสปาไทยในสื่อต่าง ๆ ของคูเวตอย่างต่อเนื่อง
.
สำหรับปี 2565 ประเทศไทยจะยังคงมุ่งส่งเสริม Soft Power ใน 3 ด้านข้างต้น โดยให้มีความเหมาะสมกับบริบทของสภาพสังคมและตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวคูเวตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และกระตุ้นความนิยมสินค้า การท่องเที่ยว และการรักษาพยาบาลในประเทศไทยร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ละคร และเพลงไทยในคูเวตนั้น เมื่อพิจารณาบริบทสังคมและข้อกําหนดของศาสนาอิสลาม อาจไม่ได้รับความนิยมในคูเวตมากนัก ดังนั้น ประเทศไทยจะส่งเสริม Soft Power ในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์