เมื่อวันที่ 25 เม.ย. บริษัท LG Electronics ประกาศย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือจากเมืองพยองแท็ก จ. คยองกี ไปยังฐานการผลิตในเมืองไฮฟอง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม [su_spacer size=”20″]
การตัดสินใจโยกฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนจากเกาหลีใต้ไปยังเวียดนามดังกล่าวเป็นความพยายามของบริษัทฯ ในการลดต้นทุนการผลิตโทรศัพท์มือถือ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจโทรศัพท์มือถือของบริษัทฯ ท่ามกลางสภาวะการเติบโตของตลาดโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันที่ชะลอตัวลง โดยการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ LG ประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่องกันเป็นเวลา 15 ไตรมาส รวมมูลค่าการขาดทุนสะสมกว่า 3 ล้านล้านวอน (ประมาณ 2.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) [su_spacer size=”20″]
นักวิเคราะห์ประเมินสาเหตุของปัญหาการขาดทุนสะสมของธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ LG Electronics ว่ามาจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดโทรศัพท์มือถือ โดยโทรศัพท์มือถือของ LG ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ทั้งในรุ่นกลุ่มระดับบน ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับ Apple และ Samsung และในรุ่นกลุ่มระดับกลาง-ล่าง ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับค่ายโทรศัพท์มือถือจากจีน อาทิ Huawei Xiaomi Oppo และ Vivo ที่มี เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำหน้า แต่มีราคาถูก [su_spacer size=”20″]
ภายหลังกระบวนการย้ายฐานการผลิต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โรงงานที่เมืองพยองแท็กจะถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นศูนย์ออกแบบและทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบโทรศัพท์มือถือ LG ก่อนผลิตจริงในสายพานการผลิต สําหรับพนักงานที่โรงงานพยองแท็กจํานวนกว่า 750 คน จะถูกโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เมืองชางวอน จ. คยองซังใต้ แทน เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือที่เมืองไฮฟอง ซึ่งเดิมมีกําลังการผลิตปีละ 6 ล้านเครื่อง จะเพิ่มกําลังการผลิตขึ้นเป็นปีละ 11 ล้านเครื่อง [su_spacer size=”20″]
ที่ผ่านมา LG Electronics มีโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือตั้งอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และบราซิล มีกําลังการผลิตโทรศัพท์มือถือรวมปีละประมาณ 38 ล้านเครื่อง โดยโรงงานที่เมืองพยองแท็กผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในรุ่นกลุ่มราคาสูง ขณะที่โรงงานที่เมืองไฮฟองผลิตโทรศัพท์มือถือในรุ่นกลุ่มราคาระดับกลาง-ต่ำ ทั้งนี้ การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตดังกล่าวจะส่งผลให้ LG Electronics ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่ผลิตในเกาหลีใต้ (Made in Korea) อีกต่อไป [su_spacer size=”20″]
แหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือของ LG Electronics จากเกาหลีใต้ไปยังเวียดนามเพื่อลดต้นทุนการผลิตดังกล่าว จะสร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ของ LG อาทิ LG Display และ LG Innotek ซึ่งปัจจุบันก็ประสบกับภาวะขาดทุนให้พิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันพนักงานของโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือที่เมืองไฮฟองได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 206,000 วอน (ประมาณ 180 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 8 เท่าของเงินเดือนที่พนักงานของโรงงานในเกาหลีใต้ได้รับ [su_spacer size=”20″]
มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจของบริษัทเกาหลีใต้ในการโยกย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นออกจากเกาหลีใต้ไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมทั้งออกกฎหมายจํากัดชั่วโมงการทํางาน ทั้งนี้ หากในอนาคตบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ (Chaebol) ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตตามรอย LG Electronics ก็อาจส่งผลให้ปัญหาการว่างงานในเกาหลีใต้เลวร้ายยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งผู้แทนของบริษัทเอกชน และ สส. พรรคฝ่ายค้านอย่างรุนแรงมากขึ้น เกี่ยวกับแนวทางการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการแทรกแซงระบบตลาดที่นอกจากจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด [su_spacer size=”20″]
แม้ว่าการย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของ LG Electronics ครั้งนี้จะ ไม่ส่งผลกระทบต่อตําแหน่งงานของพนักงานโรงงานที่เมืองพยองแท็ก อย่างไรก็ดี การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณถึงการดําเนินการที่ขัดต่อแนวนโยบาย และความคาดหวังของรัฐบาลที่มีต่อบทบาทของกลุ่ม Chaebol ในฐานะผู้เล่นสําคัญที่จะสามารถสร้างตําแหน่งงานใหม่ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการขยายฐานการผลิต/สร้างโรงงานในเกาหลีใต้เพิ่มเติม ทั้งนี้ การตัดสินใจโยกย้ายฐานการผลิตดังกล่าวยังเป็นเครื่องยืนยันถึงสิทธิขาด/อํานาจการตัดสินใจในทางธุรกิจของกลุ่ม Chaebol ที่เป็นเอกเทศ และไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันของรัฐบาล ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้มาตรการที่เป็น “ไม้แข็ง” กดดันให้กลุ่ม Chaebol ปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจังก็ตาม [su_spacer size=”20″]
การตัดสินใจดังกล่าวยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความนิยม/ความแข็งแกร่งของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของภาคเอกชนเกาหลีใต้ ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐเกาหลีใต้จะมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ต่อเวียดนาม โดยเห็นว่าบริษัทเอกชนเกาหลีใต้ลงทุนในเวียดนามมากเกินไป และประสงค์ให้ diversify ฐานการผลิตไปยังพื้นที่อื่น ๆ อาทิ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ หรือประเทศในเอเชียกลางมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความพยายามของรัฐบาลก็ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของภาคเอกชนเกาหลีใต้มากนัก ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องค่าจ้างแรงงาน นโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลเวียดนาม และศักยภาพของแรงงานเวียดนาม ยังคงเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้เวียดนามเป็นจุดหมายการลงทุนหลักของภาคเอกชนเกาหลีใต้ต่อไป [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล