เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 บริษัท Hyundai Heavy Industries (HHI) บริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ได้ลงนามบันทึกความตกลงร่วมกับ Korea Development Bank (KDB) รัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering (DSME) (บริษัทต่อเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเกาหลีใต้) เพื่อเข้าซื้อกิจการของ DSME คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ [su_spacer size=”20″]
โดยภายใต้เงื่อนไขของบันทึกความตกลงดังกล่าว KDB ตกลงที่จะโอนหุ้นใน DSME ทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กับ HHI แลกเปลี่ยนกับสิทธิ์ในการเข้าถือหุ้นใน HHI (มูลค่า/สัดส่วนการลงทุนอยู่ระหว่างการเจรจา) รวมทั้ง จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ DSME เพิ่มเติมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะใช้เวลาดําเนินการประมาณ 6 เดือน เนื่องจากจําเป็นต้องขอรับความเห็นชอบจาก antitrust regulator ที่เกี่ยวข้อง [su_spacer size=”20″]
ซึ่งการตัดสินใจขายหุ้นใน DSME ของ KDB ให้กับ HHI ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมการต่อเรือของประเทศ โดยต้องการควบรวมกิจการบริษัทต่อเรือยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้จาก 3 ราย ซึ่งประกอบด้วย (1) HHI (2) DSME และ (3) Samsung Heavy Industries ให้เหลือเพียง 2 ราย เนื่องจากเห็นว่าการควบรวมกิจการจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะช่วยแก้ปัญหาสมรรถนะล้นเกิน (excess capacity) ลดการลงทุนในสาขาที่ซ้ำซ้อน ปรับปรุงการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะส่งผลดีในแง่การประหยัดต่อขนาด (economies of scale) และการพัฒนา/ผสมผสานทางด้านเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้วย [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ หากการดําเนินการดังกล่าวสําเร็จตามแผนที่วางไว้ บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม HHI – DSME เข้าด้วยกันจะกลายเป็นบริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะถือครองส่วนแบ่งการตลาดของเรือรวมทุกประเภทกว่าร้อยละ 21.2 และจะส่งผลให้บริษัทต่อเรือของญี่ปุ่นและจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งสําคัญแข่งขันได้ยากขึ้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า การควบรวมกิจการระหว่าง HHI – DSME จะเพิ่มแรงกดดันให้จีนพิจารณาเร่งรัด กระบวนการควบรวมกิจการระหว่าง China State Shipbuilding Corp. (CSSC) กับ China Shipbuilding Industry Corp. (CSIC) สองบริษัทต่อเรือยักษ์ใหญ่ของจีนให้เร็วยิ่งขึ้น [su_spacer size=”20″]
การควบรวมกิจการ HHI-DSME ยังถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ด้วย เนื่องจาก HHI และ DSME เป็นบริษัทต่อเรือของเกาหลีใต้เพียง 2 บริษัทที่มีขีดความสามารถในการผลิตเรือสําหรับใช้ในภารกิจทางการทหาร โดยจากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ (Korea Defense Industry Association – KDIA) พบว่า ร้อยละ 79.5 ของเรือรบและ เรือดําน้ำของกองทัพเรือเกาหลีใต้ผลิตโดย HHI และ DSME [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ การประกาศแผนเข้าซื้อกิจการดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพแรงงานของ HHI เนื่องจากปัจจุบันบริษัท HHI ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่ค้างคาอยู่หลายเรื่อง และคาดการณ์ว่า การควบรวมกิจการจะนํามาซึ่งการปรับโครงสร้างของบริษัทในอนาคต ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาชีพของตน โดยสหภาพฯ เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ เปิดโอกาสให้อนุญาตผู้แทนสหภาพฯ เข้าไปมีส่วนร่วม ในกระบวนการเจรจาควบรวมกิจการด้วย [su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก Hana Financial Group ประเมินว่า แผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวไม่น่าจะได้รับความเห็นชอบจาก antitrust regulator เนื่องจากจะเป็นการกระทําที่ขัดขวางการแข่งขัน (anti-competitive practice) โดยระบุว่า ปัจจุบัน HHI และ DSME มียอดคําสั่งซื้อเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Carrier – LNGC) รวมกัน 72 ลํา จากทั้งหมด 121 ลํา หรือคิดเป็นร้อยละ 59.9 การควบรวมกิจการจะทําให้ HHI-DSME ถือครองส่วนแบ่งการตลาดเรือประเภท LNGC และเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ (Very Large Crude Carrier – VLCC) เกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบของ WTO และ EU Commission (นักวิเคราะห์มองว่า HHI-DSME ควรถูกตรวจสอบประเด็นเรื่องการผูกขาด/ขัดขวางการแข่งขัน โดยพิจารณา ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดเรือประเภท LNGC และ VLCC ซึ่งเป็นสินค้าหลักของ DSME มิใช่เรือรวมทุกประเภท) [su_spacer size=”20″]
การต่อเรือถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสําคัญของเกาหลีใต้ เนื่องจากนํารายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจํานวนมาก (มูลค่าการส่งออกเรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของเกาหลีใต้) และมีแรงงานในระบบเป็นจํานวนมาก (แรงงานในอุตสาหกรรมต่อเรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของทั้งหมด) ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้จึงจําเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน (bailout) แก่บริษัทต่อเรือที่ประสบกับภาวะขาดทุน โดยเฉพาะในช่วงที่ยอดสั่งซื้อเรือตกต่ำอันเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก [su_spacer size=”20″]
ปัจจุบันผลประกอบการของบริษัทต่อเรือเกาหลีใต้กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง เนื่องจาก ตัวของธุรกิจปิโตรเลียม/พลังงานของโลก ซึ่งทําให้มีความต้องการใช้เรือ LNGC มากขึ้น โดยเรือ LNGC ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี/กระบวนการผลิตที่ซับซ้อน จึงเป็นเรือที่มีมูลค่าสูงและมีสัดส่วนของกําไรสูง (ราคาเรือ LNGC คิดเป็น 7 เท่าของเรือขนส่งสินค้า) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทต่อเรือของเกาหลีใจ้จะได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตเรือ LNGC ตามแผนคําสั่งซื้อเรือล็อตใหม่ของกาตาร์ จํานวน 60 ลํา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล