ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้กําหนดให้เมือง/ภูมิภาค 5 แห่ง เป็นศูนย์อุตสาหกรรมพิเศษสําหรับการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (special complexes for materials, equipment and components) ได้แก่ เมืองอันซอง (ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์) นครปูซาน (ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์) นครควางจู (ชิ้นส่วนยานยนต์) นครแทก (ชิ้นส่วนรถ EV) และโอซองอึบ (วัสดุที่เกี่ยวข้องชีวภาพ)
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศรายชื่อ เมือง/ภูมิภาค 7 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางสําหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเชิงยุทธศาสตร์ (Specialized Complexes for Advanced Strategic Industries) จากผู้เข้าสมัครทั้งหมด 21 แห่ง
โดยทั้ง 7 แห่งนี้แบ่งเป็นศูนย์เฉพาะทางในสาขาเซมิคอนดักเตอร์ 2 แห่ง (เมืองคูมิ และคลัสเตอร์เมืองยงอิน- เมืองพย็องเท็ค) สาขาแบตเตอรี่ชาร์จใหม่ 4 แห่ง (เมืองโพฮัง เมืองช็องจู เซมังอิ่ม และนครอุลซาน) และสาขาจอแสดงผล 1 แห่ง (คลัสเตอร์เมืองชอนั่น-เมืองอาซาน)
ซึ่งการจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางครั้งนี้ มีผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ ได้แก่ LG Energy Solution, LG Chem, SK On และ POSCO Future M จะร่วมลงทุน 30 ล้านล้านวอน เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่มูลค่าให้กับโครงการจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางทั้ง 7 แห่ง ตั้งแต่กระบวนการแปรรูปแร่ธาตุ การจัดหาวัสดุแคโทด การผลิตเซลล์ การรีไซเคิล จนถึงการพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้คัดเลือกมหาวิทยาลัย 8 แห่ง เพื่อทำหน้าที่บ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญสําหรับอุตสาหกรรมข้างต้น เช่น (1) Seoul National University (2) Kyungpook National University และ (3) Sungkyunkwan University โดยภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 5.4 หมื่นล้านวอน อีกทั้งรัฐบาลเกาหลีใต้จะออกมาตรการจูงใจ อาทิ การแก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ลดหย่อนภาษี และสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนจํานวน 614 ล้านล้านวอนภายในปี พ.ศ. 2569 และจะประกาศแผนพัฒนาแบบละเอียดสําหรับศูนย์เฉพาะทางทั้ง 7 แห่ง ภายในปลายปีนี้
สําหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเพิ่งกําหนดให้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 นั้น จะมีการประกาศภูมิภาค/จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกภายในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2567 ต่อไป
ทั้งนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea: BOK) เผย GDP เกาหลีใต้ ประจําไตรมาส 2/2566 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 โดยเป็นผลมาจากการนําเข้าที่ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งสูงกว่าที่ทาง BOK คาดการณ์ไว้ร้อยละ 0.1
ปัจจัยสําคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 นี้ มาจากการนําเข้าน้ํามันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง รวมถึงการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ จากยอดนำเข้าในไตรมาส 2/2566 ที่ลดลงร้อยละ 4.2 ส่งผลให้ยอดการส่งออกสุทธิในไตรมาส 2/2566 ขยายตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์