เคนยาเป็นหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ จำนวนมาก ด้วยมีท่าเรือ Mombasa ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของทวีฟแอฟริกา ซึ่งเป็นจุดพักรับ-ส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำให้เคนยาเปรียบเสมือนประตูด่านแรกของสินค้าหลากหลายชนิดที่จะส่งเข้ามาในทวีฟแอฟริกา นอกจากนี้ การเป็นแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย และการที่เคนยามีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้ามากประเทศหนึ่งในแอฟริกา ทำให้เคนยาเป็นประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติต้องการเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศ[su_spacer size=”20″]
หนึ่งในองค์กรที่นักลงทุนต้องรู้จักถ้าหากต้องการเข้าไปลงทุนในเคนยาก็คือ Kenya Investment Authority (Kenlnvest) ซึ่งเป็นองค์กรตามกฎหมายของเคนยา มีหน้าที่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเคนยาทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ โดยมีหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ (1) การส่งเสริมการลงทุนผ่านการจัดประชุม และงานสัมมนาต่าง ๆ การเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน (2) การสนับสนุนก่อนการลงทุน (pre-establishment support) โดยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกครบวงจร (one-stop center) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การจดทะเบียนการขอใบอนุญาตทำงาน การขอใบแสดงการมีถิ่นที่อยู่ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรงเรียน ที่พัก ที่ดิน เป็นต้น(3) การสนับสนุนภายหลังการลงทุน (post-establishment support) เช่น การให้คำปรึกษาเรื่องภาษีการส่งออก ประเด็นเรื่องที่ดิน หรือกรณีมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ส่งผลกระทบกับบริษัทต่าง ๆ เป็นต้น (4) การให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาด้านนโยบาย หรือมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน Kenlnvest [su_spacer size=”20″]
นาย Uhuru Kenyatta ประธานาธิบดีเคนยาคนปัจจุบัน มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อมาทดแทนการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบัน ได้ก่อหนี้สาธารณะไปแล้วกว่าร้อยละ 54 ของ GDP นอกจากนี้ ยังเน้นการส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมทั้งการส่งออกด้วย ซึ่งปัจจุบัน การส่งออกของเคนยาคิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าการนำเข้า นอกจากนี้ นโยบายสำคัญอย่าง Big Four Agenda ที่ประกอบด้วย (1) Food Security (2) Affordable Housing (๓) Affordable Healthcare และ (๔) Manufacturingซึ่งประธานาธิบดีของเคนยาได้ประกาศให้เป็นความสำคัญลำดับแรกของรัฐบาล ล้วนเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งประธานาธิบดีเคนยาอาจจะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามนโยบาย Big Four ด้วย [su_spacer size=”20″]
ในส่วนของภาคการผลิต (manufacturing) เคนยาเน้นในกลุ่มสาขาย่อย ได้แก่ (1) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (2) ผ้าผืน โดยรัฐบาลมีแผนที่จะสร้าง “เมืองสิ่งทอ” (textile city) ที่เมือง Naivasha (3) การแปรรูปเครื่องหนัง เคนยามีการปศุสัตว์เป็นลำดับที่ 2 ของแอฟริกา แต่ต้องนำเข้ารองเท้าจำนวนกว่า 30 ล้านคู่ต่อปี (4) ทรัพยากรแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ทอง ไทเทเนียม (5) น้ำมัน เคนยาคาดหวังที่จะส่งออกน้ำมันดิบได้ในปีนี้ (6) เหล็กและเหล็กกล้า เคนยามีโครงการก่อสร้างจำนวนกว่า 250,000 โครงการ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟ และถนน รวมกว่า 3,000 กม. และท่าอากาศยาน ซึ่งหากมีโรงงานผลิตจะขายได้ทั้งในประเทศและในภูมิภาค [su_spacer size=”20″]
ในด้านการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในเคนยานั้น เคนยามีกฎหมายทางด้านการคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ (Kenya Foreign Investment Protection Act) มาตั้งแต่ปี 1964 รวมทั้งเป็นสมาชิก Multilateral Investment Guarantee Agency (MIGA) และมีกลไกที่ให้ภาคเอกชนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้[su_spacer size=”20″]
เคนยามี Export Processing Zone (EPZ) ซึ่งมอบสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนคือ การยกเว้นภาษีนิติบุคคลใน 10 ปีแรก และเก็บภาษีร้อยละ 25 ใน 10 ปีต่อมา (อัตราภาษีปกติอยู่ที่ร้อยละ 30) การยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบ อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีระดับหนึ่ง (ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2560 รัฐบาลได้ประกาศลดอัตราค่าไฟฟ้าลงร้อยละ 50 ให้กับโรงงานที่ปฏิบัติงานในช่วงกลางคืน) นอกจากนี้ เคนยาสามารถเข้าถึงตลาดประเทศข้างเคียง ได้แก่ แทนซาเนีย ยูกันดา รวันดา บุรุนดี เซาท์ซูดาน ซึ่งเป็นสมาชิกประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community – EAC)[su_spacer size=”20″]
เคนยาอยู่ระหว่างการจัดตั้ง Special Economic Zone (SEZ) ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่จะเปิดให้นักลงทุน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน คือ ใน 10 ปีแรก จะเก็บภาษีนิติบุคคลร้อยละ 10 และใน 10 ปีต่อมา จะเก็บภาษีร้อยละ 15 และมีการยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ รวมทั้งสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญได้ร้อยละ 20 เพื่ออบรมทักษะต่าง ๆ ให้แรงงานเคนยาได้ด้วย รวมทั้งมี Investment allowance ร้อยละ 100 แต่หากลงทุนในเมือง Mombasa และเมือง Kisumu จะได้รับ investment allowance ร้อยละ 150 ทั้งนี้ ข้อแตกต่างของ EPZ และ SEZ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการตลาดใด เช่น EPZ จะเน้นการผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศ เช่น ยุโรป ในขณะที่ SEZ เน้นการส่งออกไปยังตลาด EAC เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้รัฐบาลเคนยาอยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบเกี่ยวกันสิทธิประโยชน์จากการใช้วัสดุที่ประกอบในประเทศในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งเมื่อระเบียบนี้ออกแล้ว น่าจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี