Keihanna Science City เป็นเมืองอัจฉริยะหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์แห่งชาติของญี่ปุ่น Keihanna เป็นโครงการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ก่อตั้งเมื่อปี 2530 พื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ โอซากา เกียวโต และนาระ โดยมีเกียวโตเป็นตัวหลักขับเคลื่อนโครงการและประสานงานกับอีก 2 จังหวัด ปัจจุบัน มีองค์กรและบริษัทตั้งอยู่ 125 หน่วยงาน มีประชาชนพักอาศัยประมาณ 250,000 คน ซึ่งมีทั้งพนักงานองค์กรในพื้นที่ และประชาชนทั่วไป โดยเมืองนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพราะเป็นพื้นที่ทดสอบความเป็นไปได้ของนวัตกรรม (Proof of Concept: POC)
โครงการบ่มเพาะ (Accelerator Programme) ของ Advanced Telecommunication Research Institute International (ATR) เป็นหนึ่งในสถาบันวิจัย ใน Keihanna ซึ่ง ATR ดําเนินโครงการบ่มเพาะ 2 โครงการ ได้แก่ (1) KGAP+ ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน startup ระหว่างประเทศ ใช้ระยะเวลาอบรม 3 เดือน จัด 2 ครั้ง/ปี เปิดรับทั้ง startup ญี่ปุ่นและต่างประเทศ สำหรับ startup ญี่ปุ่นที่เข้าร่วม ต้องมีความประสงค์ขยายตลาดไปยังประเทศที่ ATR มีเครือข่าย เช่น แคนาดา เยอรมนี และอิสราเอล สำหรับ startup ต่างประเทศมีต้องพร้อมขยายตลาดมายังญี่ปุ่น และมีนวัตกรรมในขั้นตอนที่พร้อม POC ซึ่ง ATR จะจัดส่งนวัตกรรมของ startup ต่างประเทศให้บริษัทญี่ปุ่นทดลองใช้ระหว่างการบ่มเพาะด้วย และ (2) KOSAINN โครงการบ่มเพาะที่เน้น issue-driven approach คือให้บริษัทญี่ปุ่นแจ้งปัญหาที่ต้องการแก้ไข และ ATR จะจับคู่ startup หรือนักวิจัยเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสำหรับปัญหานั้น ๆ
แนวทางและโอกาสของผู้ประกอบการไทย
การพัฒนานวัตกรรมของ Keihanna ประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชุมชนล้อมรอบ ซึ่งมีส่วนสำคัญในขั้นตอนทดสอบความเป็นไปได้ของนวัตกรรม POC ด้านประเทศไทยที่กำหนดเป้าหมายพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมในหลายภูมิภาค อาจพิจารณาใช้แนวทางการตั้งพื้นที่ทดลองของ Keihanna เทียบเคียงได้
ทั้งนี้ โครงการ KGAP+ เป็นโครงการ เปิดโอกาสให้ startup ต่างประเทศสามารถขยายตลาดมายังญี่ปุ่นได้ โดยที่ผ่านมา ATR ยังไม่มีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ภาครัฐของไทยอาจส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับ ATR และเสนอให้มีการจับคู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์