ประเทศไทยสามารถขยายความร่วมมือด้านการค้ากับคาซัคสถานในฐานะตลาดที่สำคัญสำหรับประตูสู่เอเชียกลาง และหากมองได้ภาพรวมด้านเศรษฐกิจของคาซัคสถานจะเห็นได้ว่าเป็นตลาดทางเลือกที่มีศักยภาพอย่างมาก เนื่องจาก
- 1) Trade and investment climate โดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เน้นการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการลงทุนให้เป็นไปในทิศทางบวก มีการเพิ่มการโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน และลดบทบาทของการผูกขาด และผู้ผูกขาดส่วนแบ่งในตลาดในระบบเศรษฐกิจ
- 2) เศรษฐกิจคาซัคสถานมีการเติบโตขึ้น โดยรัฐบาลคาซัคสถานได้แถลงเมื่อต้นปี พ.ศ.2566 ว่า เศรษฐกิจคาซัคสถานในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565) เติบโตร้อยละ 3.1 โดยสาขาที่เติบโตมากที่สุด คือ ภาคการก่อสร้างที่ร้อยละ 9.4 และ ภาคการเกษตรที่ร้อยละ 9 ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2566 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจคาซัคสถานจะเติบโตร้อยละ 3.5 ถึงร้อยละ 4
- 3) รัฐบาลคาซัคสถานมุ่งส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเห็นได้จากการจัดประชุมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับศักยภาพในด้านการค้าและการลงทุนของคาซัคสถานให้แก่ภาคธุรกิจและเอกชนนานาประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ.2566 ได้มีการจัด Astana International Forum เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมการหารืออย่างสร้างสรรค์ในประเด็นสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ (1) ประเด็นความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียกลาง (2) Global Supply Chain และ Food Security (3) Finance ที่มีความเชื่อมโยงกับความยั่งยืน เป็นต้น
- 4) การมีหน่วยงานที่ส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างคาซัคสถานและต่างประเทศโดยทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ อาทิ (1) Kazakh Invest (2) Chamber of International Commerce of Kazakhstan (3) KazakhExport (4) Astana International Financial Center (5) President’s Foreign Investors Council
โดยตัวอย่างความสำเร็จของเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างคาซัคสถานกับต่างประเทศสะท้อนได้จาก ผลการเยือนในภาคเอกชนของสิงคโปร์และเยอรมนี เมื่อเดือน พฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ.2566 ตามลำดับ
คาซัคสถานนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ (strategic location) อยู่ในภูมิภาคเอเชียกลางระหว่างทวีปเอเชียที่มีตลาดใหญ่ เช่น จีน กับ ทวีปยุโรป โดยคาซัคสถานมีบทบาทสำคัญใน Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน เพื่อการพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ทางบกและทะเลที่จะเชื่อมระหว่างจีนกับยุโรป รวมถึงการพัฒนาท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โดยเส้นทาง Trans-Caspian International Transport (TITR) หรือ the Middle Corridor จากจีนผ่านคาซัคสถานไปยังริมทะเลแคสเปียนที่มีท่าเรือสำคัญของคาซัคสถาน ได้แก่ ท่าเรือ Asktau
เส้นทาง International North-South Transport Corridor (INSTC) จากอิหร่านมายังคาซัคสถานทางรถไฟ (ผ่านเติร์กเมนิสถาน) หรือทางเรือในทะเลแคสเปียน ซึ่งเอกชนไทยสามารถใช้ขนส่งสินค้าจากไทยมายังคาซัคสถานผ่านเส้นทางนี้ได้
นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งเส้นทางอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียกลางที่อาจจะเป็นตัวเลือกในอนาคตสำหรับโอกาสการค้าของไทยในคาซัคสถานและภูมิภาคเอเชียกลางโดยรวม ได้แก่ ทางรถไฟ China-Kyrgyzstan-Uzbekistan (CKU railway)
โอกาสของไทยสู่คาซัคสถานประตูสู่เอเชียกลาง
สินค้าไทยหลายประเภทมีศักยภาพและมีอุปสงค์ในตลาดคาซัคสถาน อาทิ (1) สินค้าอาหาร ซึ่งปัจจุบันสินค้าดังกล่าวมีการวางขายอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าในคาซัคสถานแล้ว (2) สินค้าสำหรับเด็ก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดใหญ่สำหรับไทยได้ เนื่องจากครอบครับชาวคาซัคสถานมีลูกหลายคน (3) สินค้าประเภทเครื่องเขียนและสินค้าตกแต่งบ้าน ที่น่าจะตีตลาดคาซัคสถานได้ เนื่องจากสินค้าประเภทดังกล่าวที่มีอยู่ในคาซัคสถานยังไม่มีความหลากหลาย (4) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอะไหล่รถยนต์ โดยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2566 ได้มีคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมออกบูทในงานแสดงสินค้า Astana Automechanika ณ กรุงอัสตานา
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-16 กันยายน พ.ศ.2566 สถานเอกอัครราชทูตฯ จะดำเนินโครงการสำรวจทรัพยากรและแร่ธาตุที่สำคัญในคาซัคสถานและทาจิกิสถานสำหรับใช้ในการผลิตเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยได้รู้จักกับตลาดแร่ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและช่องทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญระหว่างภาคเอกชนของไทยกับคาซัคสถานและทาจิกิสถาน โดยเฉพาะสาขาที่สนับสนุนนโยบาย BCG ของไทยสำหรับการผลิตสินค้าเทคโนโลยีสะอาด อาทิ solar panels, wind turbines, electric vehicles (EVs) และ grid-scale batteries
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา