จอร์แดนเป็นตลาดที่มีอํานาจการซื้อค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศสมาชิกความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) ดังนั้นสามารถพิจารณาจอร์แดนเป็นฐานในการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่ไทยเข้าถึงได้ยาก เช่น อิรักและซีเรีย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้จอร์แดนเป็นฐานในการส่งออกไปยังประเทศหรือเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่จอร์แดนมีความตกลงการค้าเสรีหรือ ยกเว้นภาษีศุลกากรกับประเทศที่สําคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ อียู กลุ่มประเทศอาหรับและแอฟริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น
จากความตกลงที่จอร์แดนมีกับสหรัฐฯ และอียูนั้น ทำให้มีบริษัทต่างประเทศหลายแห่ง เข้ามาตั้งโรงงานในจอร์แดน เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดข้างต้น (เช่น เสื้อผ้าสําเร็จรูปและสิ่งทอ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สําคัญของจอร์แดน) รวมถึงบริษัทจอร์แดนหลายแห่งก็นําเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อแปรรูปและส่งออกไปยังสหรัฐฯ และอียูเช่นกัน
ทั้งนี้ มีบริษัทจอร์แดนบางแห่ง นําเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทย เช่น อาหารทะเลและข้าวโพด เพื่อแปรรูปและส่งออกไปยังตลาดข้างต้น แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านเอกสารรับรอง เนื่องจากบริษัทในไทยไม่สามารถจัดหาเอกสารรับรองบางประเภทได้ (เช่น ใบ EUR 1) ทําให้สินค้าที่นําเข้าจากไทยยังไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อส่งออกไปยังอียู
โอกาสของ Future food ไทย
อาหาร Future Food ประเภทที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่คํานึงด้านสุขภาพและกลุ่มมังสวิรัติ ยังคงแพร่หลายในจอร์แดนอย่างจํากัด โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม high-end หรือกลุ่ม expats ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ของจอร์แดนจะเน้นเลือกซื้อสินค้าที่คุ้นเคยและพิจารณาจากราคาเป็นสําคัญ ซึ่งสินค้า Future Food ส่วนใหญ่ มักมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป และมีวางขายตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และร้านเฉพาะทาง
อย่างไรก็ดี ไทยยังมีโอกาสตีตลาดสินค้าอาหาร Future Food ในจอร์แดน เนื่องจากรูปแบบสินค้าของไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายในจอร์แดน รวมถึงยังไม่มีผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใหญ่ ที่หันมาผลิตสินค้า Future Food ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการนําเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ สินค้าของไทยจะต้องมีคุณภาพและราคาสินค้าที่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากยุโรปและเกาหลีได้
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน