เศรษฐกิจจอร์แดน ในช่วงไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 GDP ของจอร์แดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยการส่งออกรวมของจอร์แดน มีมูลค่า 8.939 พันล้านดีนาร์จอร์แดน (ประมาณ 13.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน การนําเข้าลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ส่งผลให้การขาดดุลการค้าลดลงร้อยละ 10 ในปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
ในส่วนของค่าเงินดีนาร์จอร์แดนค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากการที่ค่าเงินของจอร์แดนตรึงอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2538 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 และในเดือนธันวาคม 2566 จอร์แดนมีเงินทุนสํารองระหว่างประเทศอยู่ที่ 13.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2567 คณะกรรมการบริหารของ IMF ได้อนุมัติข้อตกลงอํานวยความสะดวกการขยายกองทุน Extended Fund Facility (EFF) กับจอร์แดนเพื่อสนับสนุนแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
ในปี 2566 รัฐบาลจอร์แดนได้เริ่ม โครงการ Economic Modernization Vision (EMV) โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อน Mega project มูลค่าประมาณหนึ่งพันล้านดีนาร์จอร์แดน (ประมาณ 1.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงและการขยายท่าเรืออเนกประสงค์และท่าอากาศยานนานาชาติ King Hussein ที่เมือง Aqaba มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยการแพทย์โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนซาอุดีอาระเบีย-จอร์แดน นอกจากนั้นยังมีโครงการผลิตแอมโมเนีย โครงการ Water Carrier Project (เน้นการแยกเกลือออกจากน้ําและจัดสร้างเส้นทางส่งน้ําระหว่างเมือง Agaba – กรุงอัมมาน) ทั้งนี้ การดําเนินการโครงการดังกล่าวยังเป็นไปค่อนข้างช้าและมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ความไม่สงบในกาซาจะทําให้การดําเนินการดังกล่าวยิ่งล่าช้าจากเดิมไปอีก
ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวของจอร์แดน โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากจํานวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 6.353 ล้านคน อย่างไรก็ตามสถานการณ์กาซา ยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของจอร์แดน โดยทําให้การจองโรงแรมลดลง ร้อยละ 50 ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2566 รายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 3.4 และจํานวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อย ละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565
สงครามในกาซายังทําให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจอร์แดนเปลี่ยนไป โดยประชาชนลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและการจัดงานเฉลิมฉลอง รวมถึงการคว่ําบาตรผู้ประกอบการที่มีสาขาจากต่างประเทศ อาทิ McDonalds, Starbucks และหันมาอุดหนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น
ในภาพรวมจอร์แดนยังมีเสถียรภาพและความมั่นคง แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยหลายด้านที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพ ทั้งปัจจัยภายในประเทศซึ่งรวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤติการในภูมิภาค ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราการว่างงานที่สูง ปัญหาการขาดแคลนน้ํา ตลอดจนปัจจัยจากภายนอก อาทิ ความไร้เสถียรภาพใน ประเทศเพื่อนบ้าน (ซีเรีย อิรัก) และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่ทําให้จอร์แดนได้รับผลกระทบรวมถึงรับภาระผู้ลี้ภัยจํานวนมาก
ความสัมพันธ์ระหว่าง จอร์แดน-ไทย
ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจอร์แดนในปี 2566 ดําเนินไปอย่างราบรื่น ในด้านการค้าระหว่างไทยกับจอร์แดนมีมูลค่า 251.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุล มูลค่าการค้าในปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 13.08 สินค้าสําคัญที่ไทย ส่งออกมายังจอร์แดน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าสําคัญที่ไทยนําเข้าจากจอร์แดน ได้แก่ ปุ๋ยและยากําจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์
ชาวจอร์แดนส่วนใหญ่รู้จักและมีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในระดับดีและนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย โดยในปี 2566 มีชาวจอร์แดนเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศไทยจำนวน 10,943 คน ลดลงจากปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิดร้อยละ 11.68 ทั้งนี้ การประชาสัมพันธ์และสร้างความตะหนักรู้เกี่ยวกับประเทศไทยเป็นปัจจัยสําคัญที่จะช่วยผลักดันทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจอร์แดนให้ดียิ่งขึ้น
ทางด้านการศึกษาถือเป็นองค์ประกอบสําคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของจอร์แดนและประเทศไทย โดยในปี 2566 มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ในจอร์แดนประมาณ 500 คน โดยในปีดังกล่าว มีนักศึกษาใหม่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ในจอร์แดน จํานวน 85 คน
โอกาสของไทยในจอร์แดน
ทางด้านเศรษฐกิจ ไทยกับจอร์แดนสามารถผลักดันการค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นได้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมให้นักธุรกิจทั้งสองฝ่ายรู้จักกันผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน อย่างการจัด familiarization trip การสัมมนาทางธุรกิจ การเข้าร่วมงาน Thaifex เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ยังไม่ได้เป็นวัฒนธรรมทางธุรกิจในระดับแพร่หลายในจอร์แดน แต่ขณะเดียวกันไทยยังมีช่องทางการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการค้าขายสินค้าผลิตภัณฑ์ของไทยในจอร์แดน อาทิ (1) ผู้ประกอบการจอร์แดนแสวงหาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ของไทย และนําเข้ามาจําหน่าย (2) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ร่วมกับผู้ประกอบการจอร์แดนต่อยอดการประชาสัมพันธ์สินค้าและผลิตภัณฑ์ผ่านการแสดงสินค้ารายย่อย ตามโอกาสสําคัญต่าง ๆ รวมทั้งการพบปะกับหอการค้าจอร์แดน/นักธุรกิจ เพื่อหาแนวทางส่งเสริมและกระตุ้นการค้าระหว่างกัน (3) ผู้ประกอบการไทย สามารถใช้เวทีจากงานแสดงสินค้าใหญ่ ๆ ในภูมิภาค อาทิ งาน Gulf Food /งาน Arabian Travel Market ในการจับคู่ทางธุรกิจ พบปะกับผู้ประกอบการจอร์แดน ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าดังกล่าวอย่างสม่ําเสมอ
อีกทั้ง ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยในจอร์แดนหลายแห่ง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะประชาสัมพันธ์วัฒนธรรม รวมถึงเพิ่มความนิยมและความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในหมู่ชาวจอร์แดนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สินค้า อาหาร และกีฬาของไทย เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในจอร์แดน โดยนับว่าเป็นการส่งเสริม soft power ของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนั้น จอร์แดนได้ให้ความสําคัญกับความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา/ค้นคว้าวิจัย และ Think Tank ที่สนใจส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษา กับประเทศไทยในสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศ การบริหารจัดการน้ํา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ
—–—- ปัจจุบัน สายการบิน Royal Jordanian มีเที่ยวบินตรง จากจอร์แดน ไปยังกรุงเทพฯ และสายการบิน Air Arabia มีเที่ยวบินจากจอร์แดนไปยังกรุงเทพฯ และภูเก็ตโดยแวะพักที่เมือง Sharjah ยูเออี อีกด้วย
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์