การลดลงของจำนวนประชากร
เมื่อปี 2558 ญี่ปุ่นมีจํานวนประชากรรวม 127.09 ล้านคน โดยหากอัตราการเกิดยังไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น คาดว่าประชากรญี่ปุ่นจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และคงเหลือประมาณ 88.08 ล้านคน ในปี 2608 และเหลือประมาณ 50.56 ล้านคน ในปี 2658 ขณะเดียวกันสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดก็จะเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 26.6 เป็นประมาณร้อยละ 38.4 ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยระหว่างปี 2555 – 2560 จํานวนประชากรในวัยทํางาน (15-64 ปี) ลดลงแล้วประมาณ 4.5 ล้านคน (80.6 ล้านคน เหลือ 76 ล้านคน) ซึ่งส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น (สัดส่วนของสตรี ผู้สูงอายุทั้งบุรุษและสตรี) หรือประมาณ 2.5 ล้านคน (62.7 ล้านคน เพิ่มเป็น 65.2 ล้านคน) เมื่อปี 2560 มีผู้ที่ยังได้รับการจ้างงานในตําแหน่งลูกจ้าง (employee) รวม 65.30 ล้านคน (เพิ่มขึ้น จากปี 2517 ที่มีอัตราการจ้างงานสูงที่สุด 12.92 ล้านคน) แบ่งเป็น ชายที่ยังอยู่ในวัยทํางาน 31.88 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 8.9 แสนคน จากปี 2517) หญิงที่ยังอยู่ในวัยทํางาน 25.35 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 6.37 ล้านคน จากปี2517) และชายและหญิงที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป 8.07 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 5.66 ล้านคน จากปี 2517) ทั้งนี้ สะท้อนสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุอย่างชัดเจน
ในไตรมาส 3 ปี 2561 มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.4 ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2537 ขณะที่สัดส่วน ตําแหน่งงานที่เปิดรับต่อผู้สมัครงาน (Active Job Openings to Applicants Ratio) คือ 1.63 (สัดส่วนที่มากกว่า 1 หมายถึงการขาดแคลนแรงงาน) ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2517 อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ที่ประสงค์ทํางานแต่ยังไม่มีงานทํา ซึ่งรวมทั้งผู้ที่อยู่ในวัยทํางานและผู้สูงอายุ (ไม่นับรวมเป็นผู้ว่างงาน) จํานวนประมาณ 2.8 ล้านคน แบ่งเป็นชาย 6.8แสนคน และหญิง 2.12 ล้านคน ทั้งนี้มีหลายสาเหตุ เช่น ต้องดูแลบุตร หรือผู้สูงอายุ ตําแหน่งงานที่ว่างไม่ตรงกัน คุณสมบัติ และยังไม่มีการจ้างงานสตรีที่มากเพียงพอ เป็นต้น
จากผลการสํารวจระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561 อาชีพที่ขาดแคลนประกอบด้วย 1) คนดูแลผู้สูงอายุ (care for elderly) 2) คนขายของทั่วไป (merchandise sales) 3) ผู้ประกอบอาหาร 4) พนักงาน ร้านอาหาร และ 5) วิศวกรด้านอินเตอร์เน็ต (internet) ซอฟต์แวร์ (Software)โยธา (construction) และระบบ (system)
มาตรการแก้ไขปัญหา
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมาย “การปฏิรูปรูปแบบการทํางาน” (work – style reform) เพื่อปฏิรูปโครงสร้างด้านแรงงานของประเทศ โดย 1) กําหนดบทลงโทษนายจ้างที่มีลูกจ้างทํางานล่วงเวลา (OT) เกินกว่า 45 ชม. / เดือน ในช่วงปกติ และเกินกว่า 100ชม. / เดือน ในช่วงที่มีภารกิจมาก (busy period) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการทํางานและส่งเสริมให้สตรีและผู้สูงอายุสามารถเข้ามาทํางานได้มากขึ้น (ที่ผ่านมาไม่มีบทลงโทษ) 2) กําหนดการอัตราการจ้างงานแบบ “equal work for equal pay” คือ ลูกจ้างประจํา (regular) และลูกจ้างชั่วคราว (non reguiar) จะได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยคํานึงถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มขวัญกําลังใจในการทํางานให้แก่กลุ่มลูกจ้าง ชั่วคราว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางาน / ผลผลิต (ที่ผ่านมาลูกจ้างชั่วคราวได้รับค่าตอบแทนประมาณร้อยละ 60 ของค่าตอบแทน 1 ชม. ลูกจ้างประจํา ซึ่งน้อยกว่าหลายประเทศในยุโรปที่ได้ประมาณร้อยละ 70 – 80 และ 3) กําหนดระบบการทํางานแบบ “highly professional” สําหรับสาขาอาชีพที่มีความเฉพาะทางและมีรายได้ ไม่ต่ำกว่า 10.75 ล้านเยน / ปี โดยลูกจ้างที่สมัครใจเข้าระบบนี้จะได้รับค่าตอบแทนบนพื้นฐานของผลงาน โดยไม่คํานึงถึงระยะเวลาการทํางานและไม่มีค่าล่วงเวลา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางาน / ผลผลิต อย่างเร่งรัด อนึ่ง คาดว่าข้อกําหนดต่าง ๆ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 63 เป็นต้นไป
การเปิดรับแรงงานต่างชาติเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลเลือกใช้ในการแก้ปัญหาการลดลงของจํานวนประชากรและการขาดแคลนแรงงาน โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ครม. ญี่ปุ่น ได้เห็นชอบร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย “ตรวจคนเข้าเมือง” เพื่ออนุญาตให้แรงงานฝีมือต่างชาติ (blue collar) สามารถเข้ามาทํางานในญี่ปุ่นได้ โดยขณะนี้กําลังเตรียมเสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะมี ผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นไป
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานต่างชาติ 2 ประเภทหลัก คือ 1) Highly Skilled Professionals อาทิ แพทย์ วิศวกร ผู้ประกอบอาหาร และ 2) Technical Intern Trainees (ผู้ฝึกงานด้านเทคนิค) หรือแรงงาน blue collar โดยกลุ่มแรกสามารถขยายระยะเวลาการพํานักในญี่ปุ่นโดยไม่มีกําหนดและสามารถนําครอบครัวมาพํานักอาศัยด้วยได้ ขณะที่กลุ่มที่ 2 สามารถพํานักได้ 3 ปี และต่อได้อีกไม่เกิน 2 ปี แต่ไม่สามารถนําครอบครัวมาพํานักอาศัยด้วย (เมื่อครบ 3 ปี แล้ว ต้องออกนอกประเทศก่อน)
ทั้งนี้ ภายใต้ระเบียบใหม่ แรงงานฝีมือต่างชาติ (blue collar) ใน 14 สาขาอาชีพ ที่มีความขาดแคลนในญี่ปุ่น ( 1) บริบาล 2) ทําความสะอาดอาคาร 3) อุตสาหกรรมการเกษตร 4) อุตสาหกรรมประมง 5) อุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบ อาหาร และเครื่องดื่ม 6) อุตสาหกรรมด้านร้านอาหาร 7) อุตสาหกรรม หลอมเหลวโลหะ 8) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรในโรงงาน 9) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 10) อุตสาหกรรมก่อสร้าง 11) อุตสาหกรรมต่อเรือ 12) อุตสาหกรรมบํารุงรักษารถยนต์ 13) อุตสาหกรรมภาคพื้นสนามบิน และ 14)อุตสสาหกรรมด้านที่พัก) จะสามารถพํานักในประเทศได้ภายใต้ 2 สถานะ คือ 1) เทคนิคพิเศษแบบที่ 1 ซึ่งสามารถทํางานและพํานักในญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 5 ปี แบบต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถนําครอบครัวมาพํานักอาศัยด้วยได้ และ 2) เทคนิคพิเศษแบบที่ 2 ซึ่งสามารถทํางานและพํานักในญี่ปุ่นได้ต่อเนื่องแบบไม่มีกําหนด โดยสามารถนําครอบครัวมาพํานักอาศัยด้วยได้ ทั้งนี้ แรงงานต้องผ่านการทดสอบในด้านต่าง ๆ โดยผลการสอบจะกําหนดประเภทสถานะการพํานัก นอกจากนี้ ผู้ฝึกงานด้านเทคนิคสามารถเข้ารับการทดสอบเพื่อขออนุญาตทํางาน และพํานักในญี่ปุ่นภายใต้สองสถานะใหม่นี้ได้ด้วย สําหรับแรงงานประเภท Highly Skiled Professionals ระเบียบยังคงเป็นไปตามเดิม อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่าภายหลังการบังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ สถานะผู้ฝึกงานด้านเทคนิคจะยังคงมีอยู่หรือไม่อย่างไร
โอกาสสําหรับแรงงานไทย
ปัจจุบันมีแรงงานไทย (ที่ถูกกฎหมาย) ในญี่ปุ่น รวมประมาณ 22,532 คน โดยในแต่ละปีจะมีแรงงานประเภท Highly Skilled Professionals เข้ามาทํางานประมาณ 1,500 คน และประเภทผู้ฝึกงาน ด้านเทคนิคประมาณ 3,500 คน รวมประมาณ 5,000 คน แรงงานที่เป็นผู้ฝึกงานด้านเทคนิคหรือเทียบเท่า blue collar มีการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย รวมถึงใน 14 สาขาอาชีพข้างต้น ในปี 2560 มีแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นประมาณ 1.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ประมาณ 7.94 แสนคน และจากปี 2554 ประมาณ 5.94 แสนคน โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่าภายในหนึ่งปีหลังการบังคับใช้ร่างกฎหมาย “การปฏิรูปรูปแบบการทํางาน” จะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทํางานในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000คน และภายใน 5 ปี จะเพิ่มขึ้นประมาณ 250,000 คน ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติอันดับหนึ่งมากจาก จีน จํานวน 372,263 คน รองลงมาคือ เวียดนาม (ประมาณ 2.4 แสนคน) ฟิลิปปินส์ บราซิล และเนปาล
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว