เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (Moderate Recovery) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 เป็นรายไตรมาส มีการหดตัวร้อยละ 0.2 (Real GDP) ในช่วงไตรมาส 1 (Q1) และกลับมาขยายตัวในช่วงไตรมาส 2 (Q2) ในอัตราร้อยละ 0.5 (Real GDP) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic Demand) คือ การบริโภคภาคประชาชน (Private Consumption) (คิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในช่วง Q1 – 2 โดยได้รับผลบวกจากภาวะการเริ่มขาดแคลนแรงงาน (การเกิดลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น) ซึ่งส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่สูงขึ้น ทั้งงานประจํา (Full Time) และงานชั่วคราว (Part Time) ขณะที่ สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ที่กําลังหางาน สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานได้สะดวกขึ้น นําไปสู่รายได้ของประชาชนโดยรวม และกําลังซื้อที่เพิ่มขึ้น อนึ่ง เมื่อปี 2560 มีผู้ที่อยู่ในวัยทํางาน (15 – 64 ปี) จํานวน 76 ล้านคน ลดลงจากปี 2555 จำนวน 3.4 ล้านคน และใน Q1 ของปี 2561 อัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2536 (ร้อยละ 2.9) และสัดส่วนตําแหน่งงานที่เปิดรับต่อจํานวนผู้สมัครงาน (Active Job Openings to Applicants Ratio) เพิ่มขึ้นถึง 1.59 สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2517 (1.53) [su_spacer size=”20″]
และอีกหนึ่งปัจจัย คือ การลงทุนภาคธุรกิจ (Capital Expenditure) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ระหว่าง Q1 – 2 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการเริ่มขาดแคลนแรงงานเช่นกัน ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเร่งลงทุนในด้านต่าง ๆ เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน IT อย่าง AI และ IoT เป็นต้น อย่างไรก็ดี โดยที่อุปสงค์ภายนอกประเทศ (External Demand = Export – Import) มีลักษณะของการหดตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง Q2 ลดลงร้อยละ 0.1 คงเหลือร้อยละ 1.9 ต่อปี แต่ยังสูงกว่าเมื่อช่วง Q1 คือ ร้อยละ 0.91 ต่อปี โดยสรุปทางการญี่ปุ่นประเมินว่าในปี 2561 เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5 ลดลงร้อยละ 0.1 จากปี 2560 และน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ประมาณร้อยละ 0.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากปี 2560 แต่น้อยกว่าที่ประมาณการไว้ประมาณร้อยละ 0.2 [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีนโยบายการคลังที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเห็นชอบนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง ฉบับปี 2561 (Basic Policy on Economic and Fiscal Management and Reform 2018) เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขต้นเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน คือ การลดลงของอัตราการเกิด และการเพิ่มขึ้นของจํานวนผู้สูงอายุ รวมถึงเพื่อเป็นพื้นฐานสําหรับการพิจารณางบประมาณประจําปี 2562 ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 โดยรัฐบาลจะให้ความสําคัญต่อ 5 ประเด็น ดังนี้ [su_spacer size=”20″]
- ผลักดัน (1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD Revolution) ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาสถานบริบาลเด็กเล็กไม่เพียงพอ การสนับสนุนทางการเงินและการปฏิรูปด้านการศึกษา และการเสริมสร้างโอกาสในการทํางานให้แก่สตรีและผู้สูงอายุ เป็นต้น และ (2) การเพิ่มผลผลิต (Productivity Revolution) ผ่านการปฏิรูป อุตสาหกรรมขั้นที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) และการดําเนินนโยบาย Society 5.0 เป็นลําดับต้น
- ปฏิรูปรูปแบบการทํางาน (Work – style Reform) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานและเกิดการกระจายตัวของรายได้ที่เป็นธรรม
- เปิดรับแรงงานต่างชาติให้สามารถเข้ามาทํางานในญี่ปุ่นได้มากและนานยิ่งขึ้น
- ขึ้นภาษีผู้บริโภค (Consumption Tax) จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป (มีการขึ้นภาษีดังกล่าวจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 เมื่อเดือนเมษายน 2557)
- จัดทําแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและการคลังฉบับใหม่ (New Plan to Advance Economic and Fiscal Revitalization Plan) ภายในปี 2561 เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) โดยการดําเนินงบประมาณแบบได้ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Surplus) ให้สําเร็จภายในปีงบประมาณ 2568 ทั้งนี้ จะเน้นเรื่องการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นภาระรายจ่ายของรัฐบาลที่มากที่สุดในขณะนี้ อนึ่ง ปัจจุบัน (ปี 2561) ญี่ปุ่นขาดดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Deficit) ประมาณ 16 ล้านล้านเยน หรือประมาณร้อยละ 2.8 ของ GDP โดยหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD หรือเท่ากับประมาณร้อยละ 189.2 ของ GDP [su_spacer size=”20″]
และอีกหนึ่งนโยบายที่ช่วยสนับสนุน คือ นโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจะยังคงดําเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative and Qualitative Monetary Easing – QQE) โดยคงมาตรการดอกเบี้ยติดลบมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) และมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดที่หลากหลาย ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน กองทุนหุ้น (ETFS) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ควบคู่กันต่อไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึงระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว