ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรม โดยนาย Fumio Kishida นายกรัฐมนตรีคนใหม่แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับการเกษตรและเกษตรเชิงพหุภารกิจ (Multifunctional Agriculture) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ได้มองภาคการเกษตรเป็นเพียงแหล่งผลิตอาหารเพียงมิติเดียว แต่เล็งเห็นความสำคัญของการเกษตรในมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น การเอื้อประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
.
โดยหนึ่งในนโยบายหลักด้านการเกษตรต้องการจะให้ภาคการเกษตรของญี่ปุ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของเกษตรกรให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดชีพ ตลอดจนเพิ่มจำนวนเกษตรกรรายใหม่ และสนับสนุนการผลิตและบริโภคในพื้นที่ เพื่อลดภาระของเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ทางกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries หรือ MAFF) ร่วมกับองค์กรวิจัยด้านการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (National Agriculture and Food Research Organization หรือ NARO) ได้ปรับขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองมาตรฐาน Japan Agriculture Standard (JAS) เช่น การจัดทำรายชื่อปุ๋ยที่สามารถใช้ได้และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ และการตรวจสอบแปลงเกษตรอินทรีย์ผ่านระบบออนไลน์ ในส่วนของ NARO ได้ให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์พืชที่ NARO ได้พัฒนาขึ้น จำนวน 598 พันธุ์และในจำนวนดังกล่าวมีบางชนิดที่เกษตรกรสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตหากแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของ NARO
.
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
จากข้อมูลข้างต้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับการเกษตรและแนวคิดการเกษตรเชิงพหุภารกิจของญี่ปุ่น มีความสอดคล้องกับ BCG Model และ Smart Farming ของไทย ที่ผู้ประกอบการไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต การทำการตลาด และการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรกรรมควบคู่กับการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยอาจเตรียมความพร้อมโดยการศึกษาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานของสินค้าเกษตรให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นมากขึ้น นำไปสู่โอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านเกษตรอัจฉริยะที่ระหว่างไทยและญี่ปุ่นต่อไป
.
นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรอย่างเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการตรวจพบสารตกค้างที่เกินมาตรฐานในสินค้าเกษตรส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่น ทั้งนี้หากเกิดความผิดพลาดจากกรณีดังกล่าวบ่อยครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าเกษตรไทยและนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกที่เน้นความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางอาหาร
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว