ข้อมูลด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจากทั้งมุมมองภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนญี่ปุ่น สามารถสรุปประเด็นภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตในระดับปานกลางมาตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยมีอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 (ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2.1 ต่อปี) ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ (1) การบริโภคของภาคเอกชน (Private consumption) ยังเพิ่มขึ้น (2) สถานการณ์การจ้างงานและอัตราค่าจ้างยังเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงผู้หญิงและผู้สูงวัยก็ได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นด้วย (3) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) รวมถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรค่อนข้างซบเซาลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2562
[su_spacer]
ทั้งนี้ รัฐสภาญี่ปุ่นกําลังหารือกันเกี่ยวกับแนวนโยบายเศรษฐกิจ (Economic Policy 2019) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2562 โดยสาระสำคัญหลัก ๆ จะเน้นที่การส่งเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และการส่งเสริมสังคมสูงอายุที่ประกอบด้วยประชากรผู้สูงอายุที่มีความกระตือรือร้น (Active Ageing Population) นอกจากนี้ จะครอบคลุมแนวนโยบายเกี่ยวกับ Society 5.0 การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรด้วย อนึ่ง ประเด็นเหล่านี้ต่างก็เป็นหัวข้อหลัก ๆ ในด้านเศรษฐกิจที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของญี่ปุ่นกล่าวถึงกันมากตั้งแต่ต้นปี 2562 และมีความสอดคล้องโดยตรงกับจุดเน้นของการประชุม G20 เช่น ความสําคัญของระบบการค้าพหุภาคี การส่งเสริมและการบริหารจัดการ Digital Trade (สื่อมวลชนญี่ปุ่นเห็นว่าควรมีการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจ Digital ให้เป็นกิจลักษณะ) การส่งเสริม Quality Infrastructure และการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อส่งเสริม society 5.0 เพราะด้วยประโยคที่ว่า “Data is the new oil” หรือที่ว่าข้อมูลมีค่าดั่งน้ำมัน คงเป็นคำพูดที่ไม่เกินความจริงไปนัก
[su_spacer]
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นกําลังเตรียมการสําหรับการขึ้นภาษีผู้บริโภค (Consumption Tax) จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยชี้แจงว่าจะนํารายได้จากภาษีไปปรับปรุงระบบสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเคยให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปี 2562 ว่าจะยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน สมาพันธ์ภาคธุรกิจของญี่ปุ่น (Keidanren) เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีดังกล่าว เพราะแม้ว่าการขึ้นภาษีอาจทําให้เศรษฐกิจผันผวนอยู่บ้าง แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะรับมือได้ เนื่องจากมีมาตรการต่าง ๆ รองรับอยู่แล้ว อาทิ การให้คูปองสําหรับใช้ซื้อของในร้านค้าที่กําหนด และคาดว่าอาจมีการทยอยปรับราคาสินค้าบางประเภทก่อนถึงวันที่ 1 ตุลาคม เพื่อให้ผู้บริโภคเริ่มคุ้นชิน
[su_spacer]
ยุทธศาสตร์ด้าน FTA ของญี่ปุ่น
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีความตกลง FTA / EPA กับต่างประเทศรวม 18 ฉบับ โดยล่าสุด คือความตกลง ญี่ปุ่น – EU ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนการเจรจาที่ยังอยู่ในช่วงพิจารณา อาทิ (1) FTA 3 ฝ่าย ระหว่างจีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า (2) EPA กับโคลอมเบีย (3) EPA กับตุรกี และ (4) การเจรจาการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ที่ยังติดขัดในประเด็นหลัก ๆ เรื่องสินค้าเกษตรและรถยนต์ โดยล่าสุดในการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีอาเบะกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่กรุงโตเกียวเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ทั้งสองเห็นชอบให้นาย Toshimitsu Motegi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และนาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ของสำนักงานคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เร่งเจรจาในรายละเอียดต่อไป โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเดือนสิงหาคม 2562 ภายหลังการเลือกตั้ง สว. ในญี่ปุ่น
[su_spacer]
การลงทุนของญี่ปุ่นในไทย
ในประเด็นการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยในระยะหลัง บริษัทญี่ปุ่นที่สนใจจะขยายการลงทุนในไทยจํานวนหนึ่งเป็นบริษัทที่มีโรงงานหรือสำนักงานในไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาสิ่งจูงใจต่าง ๆ ของไทย ก็พบว่ายังมีความซับซ้อนและความไม่ชัดเจนในบางกรณี โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นก็ยังไม่เข้าใจว่าการลงทุนใน EEC จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในจังหวัดอื่น ๆ นอก EEC หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะหากเป็นจังหวัดหรือสาขาที่เข้าข่ายจะได้รับการสนับสนุนระดับสูงสุดจาก BOI อยู่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นเห็นว่า หากไทยสามารถให้คําแนะนําและข้อมูลด้านการลงทุนในลักษณะ One Stop Service ได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก
[su_spacer]
ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนที่มีต่อญี่ปุ่น
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อบริษัทญี่ปุ่นในจีนยังถือว่าไม่มากนัก เพราะร้อยละ 70 ของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในจีนเป็นธุรกิจการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศจีน จึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกําแพงภาษีดังกล่าว สําหรับอีกร้อยละ 30 ที่อยู่ใน Supply Chain ของการผลิตสินค้าที่ส่งออกจากจีน คือส่วนที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในข่ายที่อาจพิจารณาย้ายโรงงานจากจีนไปที่อื่น โดยส่วนใหญ่มุ่งไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น บริษัท Sharp ได้ย้ายโรงงานจากจีนไปยังไต้หวันชั่วคราว ก่อนที่จะมีแผนจะย้ายไปเวียดนามในเดือนตุลาคม 2562 และย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังไทย รวมทั้งบริษัทผลิตนาฬิกา Citizen และบริษัทผลิตกล้อง Sony ที่อยู่ในจีน ซึ่งมุ่งส่งออกไปยัง ตลาดสหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการลดผลกระทบด้วยเช่นกัน อนึ่ง บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งได้ใช้นโยบาย China+1 อยู่แล้ว คือ มีโรงงานทั้งในจีนและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน บริษัทในญี่ปุ่นบางแห่งที่ส่งออกชิ้นส่วน/ส่วนประกอบต่าง ๆ ไปยังจีน ก็ส่งออกได้น้อยลง
[su_spacer]
ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นกําแพงภาษีนําเข้าสินค้าบางประเภทจากจีนเป็นร้อยละ 25 บริษัทของจีนจํานวนมากย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย ทําให้ในไตรมาสแรกของปีนี้ จีนครองสัดส่วน FDI ในไทยมากถึงประมาณร้อยละ 40 และเป็นครั้งแรกที่สูงกว่า FDI ของญี่ปุ่นในไทยด้วย (แต่เป็นตัวเลขเฉพาะในไตรมาสดังกล่าว ซึ่งแนวโน้มนี้อาจจะเป็นแค่ระยะสั้นก็เป็นได้) ทั้งนี้ นอกจากไทยแล้ว ประเทศเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
[su_spacer]
แม้สาเหตุหลักประการหนึ่งของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเริ่มจากการที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายขาดดุลการค้า แต่สมาพันธ์ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นก็เห็นว่าความขัดแย้งดังกล่าวได้ขยายไปครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Technologies) อย่างการพัฒนาของเครือข่าย 5G ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้วย ในการแถลงข่าวช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ประธานสมาพันธ์ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นมีท่าทีในเชิงบวกต่อจีน โดยเห็นว่าจีนมีนโยบายส่งเสริม Free and Open Trade
[su_spacer]
นาย Shujiro Urata นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ เห็นว่าญี่ปุ่นควรมีบทบาทที่แข็งขันในการคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการส่งเสริมบทบาทญี่ปุ่นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบพหุภาคี โดยอภิปรายในงาน FPCJ Press Briefing หัวข้อ “Japan’s Role in Multilateral Economic Cooperation – Ahead of the Osaka G20 Summit” เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ณ Foreign Press Center Japan มีสาระสำคัญ ดังนี้
[su_spacer]
1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
• Rise of Protectionism: เช่น นโยบาย “America First” ของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก มีการดําเนินการขึ้นภาษีนําเข้าสินค้า การปฏิเสธความร่วมมือแบบพหุภาคีและหันไปให้ความสําคัญกับการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น
• Rise of China: เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังจะเห็นได้จากตัวเลข GDP และอุตสาหกรรม
ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอิทธิพลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนยังมีแนวทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงบังคับ (forced technology transfer) ทุนนิยมโดยรัฐ (state capitalism) อีกทั้งยังเป็นที่จับตาในเรื่องของ Belt and Road Initiative
• Dysfunction of WTO: ผู้บรรยายมองว่า WTO ไม่สามารถทํางานตามอํานาจหน้าที่ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การเปิดเสรีการค้า การกําหนดกฎเกณฑ์ทางการค้า และการระงับข้อพิพาท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทําให้สถานการณ์การค้าโลกอยู่ในภาวะวิกฤติ
[su_spacer]
2. ประเด็นที่ญี่ปุ่นอาจหยิบยกเข้าหารือในการประชุม G20 Summit
ผู้บรรยายได้รวบรวมประเด็นที่ญี่ปุ่นอาจหยิบยกเข้าหารือในการประชุม G20 Summit โดยการรวบรวมข้อมูลจากปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี นายชินโซ อาเบะ ในการประชุม World Economic Forum ในเดือนมกราคม และการประชุม The Future of Asia Conference (Nikkei Forum) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้บรรยายได้กล่าวว่าไม่มีข้อมูลเรื่องของประเด็นการประชุมจากฝ่ายหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นแต่อย่างใด
• การจัดตั้งและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการค้าเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม (Free and fair global trading system) โดยมีเนื้อหาใน 2 ประเด็นย่อย ดังนี้
(1) การสรุปผลการเจรจา Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP
– ในปัจจุบันประกอบด้วยประเทศร่วมเจรจา 16 ประเทศ (ประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ซึ่งหากสําเร็จ ประชากรในกลุ่มประเทศ RCEP จะมีจํานวน มากถึง 3.4 พันล้านคน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่า GDP คิดเป็น 30% ของโลก
– เป้าหมายของ RCEP ได้แก่ (1) จัดให้มีการค้าเสรีและกําจัดอุปสรรคทางการค้า (2) กําหนดกฎเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา (3) สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
– ญี่ปุ่นควรมีบทบาทเป็นผู้นําในการสรุปการเจรจาเพื่อให้มีแผนเริ่มดําเนินการ
– การถอนตัวจาก CPTPP ของสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มความสนใจให้กับการจัดตั้ง RCEP
– สําหรับประเทศอินเดีย ที่ผ่านมาใช้นโยบายการค้าแบบ Protectionism หากมีการตกลงให้เปิดเสรีทางการค้า อินเดียจะต้องเปิดรับการนําเข้าสินค้าจากคู่แข่งอย่างประเทศจีน อย่างไรก็ตาม อินเดียค่อนข้างมีศักยภาพการแข่งขันในด้านการบริการ ดังนั้น การเปิดเสรีการค้านี้จะทําให้อินเดียต้องเปิดรับสภาพการแข่งขันด้านการค้าสินค้า ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็จะต้องเปิดรับสภาพการแข่งขันด้านการค้าและบริการเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ สําหรับประเทศในอาเซียนก็อาจต้องเผชิญความท้าทายจากการไหลเข้าของสินค้าและบริการด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีจากอินเดีย
(2) WTO Reform
– ผู้บรรยายเห็นว่าญี่ปุ่นควรใช้บทบาทนําในการหารือกับประเทศผู้เล่นหลัก (Major players) ได้แก่ สหรัฐฯ จีน EU โดยชี้ให้เห็นถึงความสําคัญของการปฏิรูป WTO ในเรื่องของการส่งเสริมความตกลง การค้าเสรี ความตกลงการค้าหลายฝ่าย (Plurilateral agreement) ในเรื่องเฉพาะ เช่น e-Commerce การค้าบริการ การแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อกังวลของผู้บรรยาย คือ ในปัจจุบันยังไม่มีแผนหรือแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎเกณฑ์ดังกล่าว
– ควรมีการทบทวนกระบวนการระงับข้อพิพาทและการอุทธรณ์
– ควรมีแนวทางการต่อต้านลัทธิ Protectionism ซึ่งอาจเกิดขึ้นด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยอื่น เพราะท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลลบในภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวระหว่างการประชุม G20
– ผู้บรรยายคาดหวังว่าการประชุม G20 จะเป็นเวทีให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิรูป WTO
• Digital Economy
– นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ให้ความสําคัญอย่างมากต่อเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการให้ความสําคัญในเรื่องของข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างเสรี (Free flow of Data) ซึ่ง นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าข้อมูลจะเป็นปัจจัยสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ดังที่ท่านเคยได้กล่าวไว้ว่า “Data is oil” ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม คาดว่าญี่ปุ่นจะเสนอแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เรียกว่า “Data Free Flow with Trust (DFFT): Osaka Track”
– ข้อท้าทายของการเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างเสรี ประการแรก คือ การหลีกเลี่ยง Digital Protectionism เนื่องจากในปัจจุบัน มักมีข้อจํากัดในเรื่องของการติดตั้ง hardware และ software ต่าง ๆ และในบางประเทศก็ยังมีกฎหมายจํากัดการแลกเปลี่ยนและถ่ายโอนของข้อมูล
– ข้อท้าทายอีกประการหนึ่งเป็นเรื่องของการกํากับดูแลความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Security and Privacy)
– ผู้บรรยายคาดหวังว่าการประชุม G20 จะทําให้เกิดข้อสรุปเนื้อหาของ Osaka Track ประกอบด้วยแผนและมาตรการ ที่ประเทศต่าง ๆ จะสามารถนําไปดําเนินการได้ทันที
• การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
– ญี่ปุ่นมองว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก คือ การกําหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และการสร้างนวัตกรรม
– การสร้างสรรค์นวัตกรรมจะทําให้เกิดผลกับทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกัน นอกจากนี้ นวัตกรรมยังทําให้เกิดข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้เองจะขยายผลกระทบ (Impact) ของนวัตกรรมได้
[su_spacer]
3. ประเด็นอื่นที่ญี่ปุ่นอาจหยิบยกเข้าหารือในการประชุม G20 Summit (จากมุมมองของผู้บรรยาย)
• แก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า (Correcting global imbalances)
– ความไม่สมดุลทางการค้าในที่นี้หมายถึงความไม่สมดุลของบัญชีดุลการค้า (Trade Account imbalance) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้บางประเทศตัดสินใจใช้นโยบายการค้าแบบ Protectionism
– ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สหรัฐฯ ให้ความสนใจกับการขาดดุลการค้า (Trade deficit) กับบางประเทศ เช่น จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น เยอรมนี เป็นต้น สหรัฐฯ มองว่าการนําเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทําให้สหรัฐฯ สูญเสียการจ้างงานและเสียดุลการค้า จึงใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้บรรยายมองว่าสหรัฐฯ สนใจแต่เรื่องดุลการค้ามากเกินไป ซึ่งการใช้นโยบาย Protectionism ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และไม่ช่วยให้สถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้นจากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์
– การแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าที่ถูกต้องนั้นควรใช้การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Cooperation) และการปฏิรูประบบโครงสร้าง (Structural reform)
• สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
– ในมุมมองของสหรัฐฯ การค้ากับจีนนั้นมีปัญหาหลัก ๆ อยู่ 2 ประการ คือ การที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน (Trade deficit) และการที่จีนดําเนินนโยบายการค้าอย่างไม่เป็นธรรม (Unfair Trade practices)
– ที่ประชุม G20 ควรชี้ให้สหรัฐฯ เห็นว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยออกนโยบายที่คิดถึงแต่ตนเองฝ่ายเดียวนั้นย่อมไม่เกิดผลดี
– การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สหรัฐฯ ควรสร้างความร่วมมือกับประเทศที่ประสบปัญหาในทํานองเดียวกัน เช่น ญี่ปุ่น EU
– หากเป็นไปได้ ญี่ปุ่นควรหาโอกาสจัดการเจรจา 3 ฝ่าย เพื่อให้ผู้นําสหรัฐฯ และจีน เห็นความสําคัญ ของการหยุดทําสงครามทางการค้าและหันมาใช้นโยบายด้านความร่วมมือแทน หากญี่ปุ่นสามารถทําได้สําเร็จ จะได้รับการสรรเสริญอย่างมากจากประชาคมโลก เนื่องด้วยความพยายามในการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกของญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพ
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว