ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในญี่ปุ่นพบว่า อัตราการเติบโตของตลาดอาหารออร์แกนิค ในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยในช่วงปี 2555-2561 ตลาดสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตร้อยละ 65 ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น
.
สถาบันวิจัยด้านนโยบายของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น (MAFF) มอบหมายให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เช่น มหาวิทยาลัย Rikkyo และมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด Akita สำรวจตลาดอาหารออร์แกนิค และได้ประมาณการขนาดของตลาดจากยอดการจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ พบว่า ในปี 2561 ญี่ปุ่นมีขนาดตลาดอาหารออร์แกนิค 44,300 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจาก 39,800 ล้านเยน ในปี 2555 ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ มีขนาด 5.5 ล้านล้านเยน (47,900ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 3.3 ล้านล้านเยน (29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2555
.
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยได้ประมาณการขนาดตลาดสินค้าออร์แกนิคที่ไม่ได้มีการแสดงฉลากด้วย ซึ่งในปี 2561 ญี่ปุ่นมีขนาดตลาดดังกล่าว 50,800 ล้านเยน โดยเป็นผลสำรวจเกษตรกรที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์ JAS จำนวน 313 คน แต่ไม่มีการติดบาร์โค้ดที่สินค้า หรือมีการเพาะปลูกแบบอินทรีย์แต่ไม่แสดงฉลากว่าเป็นสินค้าออร์แกนิค ดังนั้น หากรวมข้อมูลทั้ง 2 ส่วนแล้ว ในปี 2561 ญี่ปุ่นจะมีขนาดตลาดสินค้าออร์แกนิครวม 108,900 ล้านเยน
.
ศาสตราจารย์ Yoko Taniguchi จากมหาวิทยาลัย Setsunan หนึ่งในคณะผู้วิจัย ระบุถึงสาเหตุที่ ตลาดญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าตลาดสหรัฐฯ ว่า ในประเทศสหรัฐฯ มีบริการที่สามารถสืบค้นเกษตรกร ที่ทำการเกษตรอินทรีย์และ Farmer’s Market ที่จำหน่ายสินค้าอินทรีย์ได้ ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถแสวงหาช่องทางการจำหน่ายได้ง่าย และผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้อย่างสะดวก
.
ทั้งนี้ ด้านกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น (MAFF) จึงมีแผนที่จะสนับสนุนการผลิตและการบริโภคอาหารออร์แกนิคภายใต้ยุทธศาสตร์ระบบอาหารสีเขียว และได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์จากเดิมที่ร้อยละ 0.5 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดในญี่ปุ่นในปี 2561 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2593 ภายใต้ยุทธศาสตร์ระบบอาหารสีเขียว โดย MAFF ระบุว่าการส่งเสริมทั้งในแง่ของการผลิตและการบริโภคนับเป็นสิ่งสำคัญ
.
ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารออร์แกนิคค่อนข้างมาก แม้เมื่อเทียบกับตลาดในสหรัฐฯ และยุโรปแล้วจะมีขนาดตลาดที่เล็กกว่า แต่ในภูมิภาคเอเชียกลับมีขนาดตลาดที่ใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งประเทศไทยเองถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารของภูมิภาคนี่กำลังมาแรงและน่าจับตา เนื่องจากมีบริษัท startups มากมายหันมาผลิตอาหารแนวออร์แกนิคเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเป็นหนึ่งในตลาดอาหารออร์แกนิคที่น่าลงทุน และส่งออกสำหรับผู้ประกอบการไทยมากที่สุด ซึ่งอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยจะสามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคในประเทศได้ เนื่องจากขณะนี้ ญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น อาหารประเภทสมุนไพรที่ได้รับการรับรองอาจสามารถผลักดันในการใช้ในทางการแพทย์ในญี่ปุ่น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ Japan Agricultural News