ภาคเอกชนญี่ปุ่น-ไทย ร่วมลงนามความร่วมมือการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระหว่าง 3 บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท Kyushu Electric Power Co., Inc. บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าของภูมิภาคคิวชู บริษัท Intex Cooperation บริษัทผู้ผลิตและนําเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของญี่ปุ่น และบริษัท PTT International Trading Pte., Ltd. บริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งปตท. มีสัดส่วนเงินลงทุน 100% ซึ่งการลงนามครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้เพียงพอต่อความต้องการของทั้ง 3 บริษัท ทั้งในยามสถานการณ์ปกติและฉุกเฉิน โดยตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการจัดหา ซื้อขาย และขนส่ง LNG
.
การลงนามดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท Kyushu Electric Power ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคคิวชูของญ่ี่ปุ่น ต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง (ถ่าน หิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) สูงถึงร้อยละ 48 และต้องพึ่งพาการนําเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศจํานวนมาก และในปี 2564 ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะอัตราราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่แพงขึ้น เป็นเหตุให้ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นแต่ผลกําไรลดลง โดยผลประกอบการของเดือนเมษายน – ตุลาคม 2564 พบว่า มีผลขาดทุนสุทธิสูงถึง 45,307 ล้านเยน (ประมาณ 13,000 ล้านบาท) หรือขาดทุนร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 แม้ว่าจะมียอดจําหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.7 และมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของราคาเชื้อเพลิง (Fuel Cost Adjustment) ด้วยแล้วก็ตาม ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะบริษัท Kyushu Electric Power เท่านั้น บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นในภูมิภาคอื่น เช่น บริษัท Tokyo Electric Power Company Holdings, Inc. (TEPCO) บริษัท The Chugoku Electric Power Co., Inc. ที่พึ่งพาการนําเข้าก๊าซธรรมชาติล้วนได้รับผลกระทบและประสบภาวะขาดทุนเช่นเดียวกัน
.
จากสภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยตรง ทําให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติได้เอง อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจําเป็นต้องพึ่งพาการนําเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 90 โดยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงจึงมีต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลกระทบต่อภาคคมนาคมและการขนส่งของประเทศด้วย อนึ่ง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คงสถิตินําเข้าก๊าซ LNG มากที่สุดในโลกมายาวนานหลายสิบปี ส่วนใหญ่นําเข้าจากออสเตรเลีย มาเลเซีย กาตาร์ แม้ไทยจะไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิต แต่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซ LNG ที่สําคัญของภูมิภาค โดยมีคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซ รวมไปถึงท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG ที่ตําบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง
.
จากความร่วมมือข้างต้น ส่งผลดีต่อภาคการผลิตของไทยในอนาคต กล่าวคือ สินค้าไทยอาจกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจต่อประเทศผู้นำเข้ารายอื่น ๆ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง ราคาสินค้าจึงถูกลง เนื่องด้วยความช่วยเหลือของพันธมิตรในการจัดหาพลังงานให้เพียงพออยู่เสมอ รวมไปถึงด้านการขนส่งสินค้าที่มีความต่อเนื่อง ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจไทยในหลาย ๆ ประเภท อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นักลงทุนไทยควรวางแผนให้รอบคอบ สำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ