ตามรายงานจากสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นและสื่อต่าง ๆ โดยสรุปพัฒนาการด้านแรงงานญี่ปุ่นประจำเดือน สิงหาคม – กันยายน ได้ ดังนี้
ณ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น (Ministry of Health, Labor and Welfare: MHLW) มีมติเห็นชอบเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2567 (เม.ย. 2567 – มี.ค. 2568) เป็น 1,504 เยน ซึ่งเป็นการปรับขึ้น 500 เยน จากค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบัน 1,004 เยน เป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 22 และสูงสุดในประวัติศาสตร์
อีกทั้ง MHLW ได้ประกาศปรับการทดสอบรับรองคุณวุฒินักบริบาลแห่งชาติครั้งใหญ่ในปีงบประมาณ 2568 (เม.ย. 2568 – มี.ค. 2569) เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรในภาคบริบาล โดยเฉพาะชาวต่างชาติอย่างน้อย 1 หมื่นคน เพื่อให้ผู้เข้ารับการทดสอบทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติสามารถสอบผ่านได้มากขึ้นในขณะที่ทำงานไปด้วย และจะเพิ่มกำลังแรงงานในภาคบริบาลให้สามารถทันกับความต้องการในปี 2583 (ค.ศ. 2040) ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นจะมีจำนวนผู้สูงอายุสูงที่สุด
ปัจจุบัน มีแรงงานต่างชาติที่ทำงานในสถานบริบาลและบ้านพักคนชราต่าง ๆ ประมาณ 43,000 คน ด้วยการตรวจลงตราสำหรับแรงงานทักษะเฉพาะหรือผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค แรงงานกลุ่มนี้มีสิทธิเข้ารับการทดสอบรับรองคุณวุฒินักบริบาลแห่งชาติ หากทำงานในสถานบริบาลฯ ครบ 3 ปี กรณีที่สอบผ่านจะสามารถทำงานด้วยการตรวจลงตราสำหรับนักบริบาลโดยไม่มีข้อจำกัดของระยะเวลาการพำนัก และสามารถนำครอบครัวมาอยู่ที่ญี่ปุ่นได้ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2566 พบว่ามีแรงงานไทยที่ทำงานด้วยการตรวจ ลงตราสำหรับนักบริบาลทั้งสิ้น 57 คน


ในด้านภาคธุรกิจโรงแรมของญี่ปุ่น มีความต้องการจ้างแรงงานต่างชาติสูงขึ้นเพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลภาครัฐที่เกี่ยวข้องล่าสุดระบุว่า เมื่อเดือน เมษายน 2567 ภาคอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารมีการจ้างแรงงานทั้งหมด 4 ล้านคน แต่ยังคงน้อยกว่าการจ้างแรงงานในปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 4.21 ล้านคน ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือน ตุลาคม 2566 พบว่า มีแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมโรงแรมและบริการร้านอาหารจำนวน 3,685 คน
จากข้อมูลของ Japan International Training Cooperation Organization (JITCO) ได้เผยว่า แรงงานไทยที่พำนักด้วยวีซ่าผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคและการตรวจลงตราแก่แรงงานทักษะเฉพาะ ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2566 อย่างไรก็ดี แรงงานไทยยังเป็นที่ต้องการของนายจ้างญี่ปุ่น โดยเฉพาะ (1) สาขาบริบาล (2) สาขาการผลิต และ (3) สาขาก่อสร้าง
อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศระบบใหม่ที่จะทดแทนระบบผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค ซึ่งมีชื่อทางการว่า “Employment for Skill Development (ESD) Program” ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างออกกฎกระทรวง และคาดว่าจะสามารถเริ่มเจรจาข้อตกลง MOC กับรัฐบาลประเทศผู้ส่งได้ในช่วงเดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป
ข้อมูล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว