มาตรการทางการเงินของญี่ปุ่น เมื่อ 21 ม.ค. 2564 ที่ประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการทางการเงินของญี่ปุ่น ดังนี้
.
- ให้คงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินขนาดใหญ่ต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ระยะสั้นที่ร้อยละ -0.1 และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวที่ร้อยละ 0
- กำหนดให้มีการซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม โดยยอดรวมสูงสุดของกองทุนรวมETF มูลค่า 12 ล้านล้านเยน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น (J-REIT) 8 แสนล้านเยน และจะคงยอดรวมสูงสุดของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ประมาณ 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้ (Corporate Bond) ประมาณ 3 ล้านล้านเยน นอกจากนี้ จะซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นและหุ้นกู้เพิ่มเติมให้มียอดรวมสูงสุด มูลค่า 15 ล้านล้านเยน ภายในเดือน ก.ย. 2564
- ปรับตัวเลขReal GDP ประจำปี 2563 จากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ต.ค. 2563 ว่าจะลดลงร้อยละ 5.5 เป็นลดลงร้อยละ 5.6 และได้ประเมินว่า Real DGP ในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 และในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.8
- ขยายระยะเวลาดำเนินการตามมาตรการให้เงินทุนส่งเสริมการเพิ่มการปล่อยเงินกู้ และการให้เงินทุนส่งเสริมการสร้างความแข็งแกร่งของพื้นฐานการเติบโตไปอีก 1 ปี
- คงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณและคุณภาพโดยใช้มาตรการควบคุมดอกเบี้ย (Yield curve control)จนกว่าจะถึงจุดที่จำเป็น เพื่อคงระดับเป้าหมายค่าครองชีพที่มั่นคงในอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 2 นอกจากนี้ จะดำเนินมาตรการ (1) โครงการพิเศษด้านเงินทุนหมุนเวียนรองรับภาวะ COVID-19 (2) อุปทานด้านการเงินที่พอเพียงโดยไม่กำหนดเพดานในการซื้อขายพันธบัตรทั้งในเงินสกุลเยนและสกุลต่างประเทศ และ (3) ช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจและรักษาความมั่นคงของตลาดการเงิน ด้วยการซื้อ ETF หรือ J-REIT
.
สภาพเงินคงคลัง เมื่อ 21 ม.ค. 2564 สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รายงานสภาพเงินคงคลังของญี่ปุ่นขาดดุล -69.4 ล้านล้านเยน ซึ่งลดลงกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2563 ก่อนเกิดสถานการณ์COVID-19 โดยสาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อการรับมือสถานการณ์ COVID-19 และรายได้จากภาษีที่ลดลง ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างน้อยร้อยละ 2 เพื่อให้ สามารถแก้ไขภาวะขาดดุลเงินคงคลังของญี่ปุ่นให้เกินดุลได้ภายในปี 2568 อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะสามารถสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจได้ร้อยละ 2 ต่อปี ตามเป้าหมาย แต่คงจะปรับปรุงสภาพเงินคงคลังได้เร็วที่สุดภายในปี 2572 ช้ากว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิม 4 ปี และหากสถานการณ์ COVID-19 ยังยืดเยื้อก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นและทำให้สภาพเงินคงคลังของญี่ปุ่นขาดดุลเพิ่มมากขึ้นไปอีก
.
หนี้สาธารณะ ในปี 2563 รัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะจำนวน 1,159.8 ล้านล้านเยน หรือ 2.16 เท่าของ GDP โดยเมื่อเดือน ต.ค. 2563 IMF ได้สรุปสัดส่วนของหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 พบว่าญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 266.1 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2 – 4 เท่าของประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ (ร้อยละ 131.1) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 118.7) อังกฤษ (ร้อยละ 108) เยอรมนี (ร้อยละ 73.2) และจีน (ร้อยละ 61.7)
.
ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปี 2563 เมื่อ 22 ม.ค. 2564 กิจการภายในญี่ปุ่น (MIC) ได้ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (ไม่นับรวมดัชนีหมวดอาหารสด) ประจำปี 2563 เท่ากับ 101.5 ซึ่งลดลงจาก ปี 2562 ร้อยละ 0.2 โดยเป็นการลดในรอบ 4 ปี ปัจจัยหลักเกิดจากอุปสงค์ที่ลดลงจากสถานการณ์ COVID-19 โดยหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาปรับตัวลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า น้ำมันดิบ ราคาที่พัก และสินค้าด้านการศึกษา และสำหรับหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่ม เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Work From Home สินค้าในครัวเรือน สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปี 2564 นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะลดลงในไตรมาสแรกร้อยละ 0.74 และ ไตรมาสที่สองร้อยละ 0.24 เนื่องจากมีการประกาศลดราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการรายใหญ่ (บ. NTT Docomo บ. KDDI และ บ. Softbank) และการเริ่มใช้มาตรการ Go To Travel อีกครั้ง
.
จากบทความข้างต้น ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการทางการเงินของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภค และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาในการทำธุรกิจ เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการตัดสินใจซื้อของคนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะกระทบถึงการนำเข้า ส่งออก หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาการสร้างนวัตกรรมเพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในด้านดังกล่าว หรือการศึกษาหาเส้นทางการส่งออกสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือเวชภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อสร้างโอกาสด้านธุรกิจระหว่างไทย – ญี่ปุ่นให้มากยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว