เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา บริษัท Kojima Industries Corporation ได้ตรวจพบ server จำนวน 1 ตัว ล่มจากไวรัสประเภท Ransomware ซึ่งทำให้ระบบการจัดส่งชิ้นส่วนเสียหายและได้เริ่มตัดการเชื่อมต่อระหว่าง server กับเครือข่ายภายนอกเพื่อป้องกันไวรัสแพร่กระจาย จากนั้นจึงรายงานสถานการณ์ต่อบริษัทโตโยต้า ทางบริษัทฯ จึงประกาศหยุดการดำเนินงานของโรงงานในญี่ปุ่น 14 แห่ง รวม 28 สายการผลิต
.
ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 บริษัทฯ ได้ทำการส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) เข้าไปตรวจสอบที่บริษัท Kojima และอยู่ระหว่างตรวจสอบผลกระทบต่อโรงงานในต่างประเทศ เช่น สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จีนและไทย ทั้งนี้ บริษัท Hino และบริษัท Daihatsu ในเครือโตโยต้าได้ประกาศหยุดโรงงานเช่นเดียวกัน จากเหตุการณ์นี้ คาดว่าส่งผลต่อการผลิตจำนวน 13,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 – 5 ของยอดการผลิตรถยนต์ของบริษัทในญี่ปุ่นต่อเดือน ในเวลาต่อมา บริษัทโตโยต้าได้ประกาศเปิดทำการในวันที่ 2 มีนาคม 2565 โดยโรงงานทั้งหมดกลับมาเริ่มทำการอีกครั้ง เนื่องจากได้สร้างระบบการทำงานที่จำเป็นชั่วคราวแล้ว แต่ยังไม่สามารถฟื้นฟูระบบการทำงานได้โดยสมบูรณ์
.
ด้านความเคลื่อนไหวของทางการญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ได้เผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อย่างถี่ถ้วน รวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic Security Bill) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 และจะเป็นวาระหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้ หน่วยงานญี่ปุ่น ได้แก่ กรมเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม (METI) สำนักงานบริการการเงิน (FSA) กรมกิจการภายใน (MIC) กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการสังคม (MHLW) กรมที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยว (MLIT) สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (NPA) และ หน่วยงาน National Center for Incident Readiness and Strategy for Cybersecurity (NISC) ได้ร่วมกันประกาศเตือนให้หน่วยงานรัฐบาล บริษัทเกี่ยวกับ critical infrastructure รวมถึงภาคเอกชนทั่วไป ยกระดับมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้ครอบคลุมเครือข่ายธุรกิจรอบด้านและห่วงโซ่อุปทานขององค์กร
.
อนึ่ง บริษัทญี่ปุ่นถูกโจมตีทางไซเบอร์อยู่เป็นระยะ เช่น เมื่อปี 2564 บริษัท Eisai ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ ประสบปัญหาเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์ในหน้ากรอกข้อมูลส่วนบุคคลขัดข้องทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นได้ หรือฐานการผลิตของบริษัท Yazaki Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศได้รับความเสียหายทางไซเบอร์แต่เหตุการณ์ที่เกิดกับโตโยต้าถือว่ากระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับชาติ อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงทางเศรษฐิจให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาภายในสมัยประชุมปัจจุบัน โดยเสาหลักของร่างกฎหมายประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
.
- ยกระดับความแข็งแกร่งและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน
- เสริมสร้างความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานหลัก
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย
- ไม่เปิดเผยสิทธิบัตรเทคโนโลยีอ่อนไหว เช่น เทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ทางการทหารได้ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ เพื่อไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีระดับสูง เช่น เทคโนโลยีอวกาศ AI และควอนตัม เพื่อรักษาสถานะของญี่ปุ่นในเวทีระดับโลก ทั้งนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เช่น พลังงาน IT การเงิน และการขนส่ง
.
จากเหตุการณ์ข้างต้น แม้ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง แต่ถือเป็นข้อดีในการกระตุ้นเตือนให้ภาคธุรกิจระมัดระวังด้านความปลอดภัยมากขึ้น ผนวกกับปัจจุบันกระแสการใช้จ่ายผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลมีมากขึ้น การจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญโดยเฉพาะด้านการเงินนับเป็นข้อมูลที่ต้องได้รับการป้องกันระดับสูง ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการในรูปแบบออนไลน์ควรหมั่นตรวจเช็คและวางแผนระบบความปลอดภัยให้รัดกุมอยู่เสมอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว