บริษัทหลักทรัพย์ Nomura คาดการณ์ว่า GDP ของญี่ปุ่น ปี 2567 อาจลดลงกว่าที่ได้ประเมินไว้ เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโนโตะเมื่อ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อจังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของโรงงานเครื่องจักร สารกึ่งตัวนำ และอาหาร ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งมีคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะประกาศยกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุม BOJ ภายในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ นอกจากภาพรวมเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ยังได้สรุปความเคลื่อนไหวที่สำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในสาขาต่าง ๆ ดังนี้
พลังงานและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนสนับสนุนเงิน 3 ล้านล้านเยน ในระยะเวลา 15 ปี เพื่อดึงดูดความร่วมมือจากภาคเอกชนในการผลิตพลังงานสะอาดจากไฮโดรเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Green Transformation (GX) โดยเริ่มระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับเงินสนับสนุนในช่วงปลายปี 2567
ในระดับหน่วยงาน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทต่าง ๆ โดยสมัครใจผ่านทางเว็บไซต์ Green Transformation League (GX League) ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเข้าร่วมเป็นสมาชิก GX League จำนวน 568 บริษัท อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสมาชิกของ GX League ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตและพลังงาน และสัดส่วนผู้เข้าร่วมของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมยังไม่สมดุล เช่น การเข้าร่วมของบริษัทด้านการขนส่งยังมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร และยังมีหลายบริษัทที่กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงร้อยละ 40 ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมทั้งเร่งสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การผลิตเหล็กโดยใช้พลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ได้ปล่อยเรือทดลองขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์เหลวสำหรับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Usage and Storage: CCUS) ที่เมืองโยโกฮามะ ซึ่งการขนส่งดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการ CCUS ที่จะนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับไปเก็บไว้ใต้ดิน ทั้งนี้ NEDO มีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งดังกล่าวให้แล้วเสร็จในปี 2569 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCUS ในเชิงธุรกิจในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่สังคมปลอดคาร์บอน
เกษตรและอาหาร
รัฐบาลญี่ปุ่นให้การรับรองเครดิตการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเป็นครั้งแรกภายใต้ “ระบบ J Credit” ซึ่งเป็นระบบให้การรับรองเครดิตการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่น โดยเครดิตดังกล่าวสามารถซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการและสามารถคืนผลกำไรให้แก่เกษตรกรได้ ทั้งนี้ มีผลการวิจัยว่าการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนได้อย่างมาก ซึ่งก๊าซมีเทนจะแปลงเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป
ทางด้านสมาคมส่งออกและนำเข้าเนื้อสัตว์ญี่ปุ่นเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อไก่เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยนำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทย 13,500 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เนื้ออกไก่จากประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับเนื้อสะโพก อีกทั้งยังมีไขมันต่ำและโปรตีนสูง
ดิจิทัล/automation & robotics
ร้านสะดวกซื้อ Family Mart ญี่ปุ่น เริ่มใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดในสาขาที่ขาดแคลนพนักงานจำนวน 300 สาขาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยหุ่นยนต์ทำความสะอาดมีการติดตั้งกล้อง AI เป็นส่วนประกอบด้วย เพื่อให้ผู้จัดการสาขาสามารถติดตามสถานะสินค้าบนชั้นวางได้แบบ real-time เพื่อแจ้งเตือนและอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเติมสินค้า ทั้งนี้ ยังมีการมุ่งพัฒนาต่อยอดให้ระบบ AI สามารถแจ้งเตือนพนักงานเติมสินค้าได้อย่างอัตโนมัติอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัท Monet Technologies ในเครือโตโยต้า ยังเตรียมทดลองให้บริการแท็กซี่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Robotaxi ในย่านโอไดบะ กรุงโตเกียว โดยจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งจะเริ่มจากการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 2 (ระบบอัตโนมัติสามารถทำหน้าที่ในการขับขี่ได้ส่วนหนึ่ง) และจะทดสอบความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 ต่อไป (ระบบอัตโนมัติดำเนินการขับรถและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการขับขี่ได้เองในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่านั้น)
สังคมผู้สูงอายุ
กรมที่ดินญี่ปุ่นมีแนวคิดจัดทำระบบบ้านเช่าสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อแก้ไขปัญหาการหาที่อยู่อาศัยได้ยากสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ให้เช่ากลัวการเสียชีวิตในบ้าน โดยจะให้มีการรับรองมาตรฐานที่อยู่อาศัย ซึ่งประกอบด้วยการติดตามความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ (ให้บริการโดยศูนย์ดูแลท้องถิ่นหรือ NPO) และการติดตั้งอุปกรณ์ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ทั้งนี้ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายตาข่ายคุ้มครองความปลอดภัยของที่อยู่อาศัยก่อนนำมาปรับใช้จริงต่อไป
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์