เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการบริโภคส่วนบุคคล เงินลงทุน การผลิต และการส่งออก รวมถึงผลกำไรของบริษัทและสถานการณ์การจ้างงานโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ในระดับร้อยละ 2.5 ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ด้านธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) มีมติอนุมัติให้สถาบันทางการเงินขึ้นดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากระยะยาวเป็นร้อยละ 1 (จากเดิมร้อยละ 0.5) เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมาก คาดว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะทำให้นักลงทุนหันมาถือครองเงินเยนผ่านพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น และอาจส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น
พลังงาน
- (1) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 บริษัท Kansai Electric Power ได้เปิดใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Takahama No. 2 ในจังหวัด Fukui ขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ในขณะนี้บริษัทได้เปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครบทั้ง 7 แห่งที่มีแล้ว
- (2) Kyushu Electric เร่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบกและในทะเล และยกระดับให้พลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานหลักของบริษัทในเครือ โดยได้ประกาศเป้าหมายหลักพัฒนาพลังงานทดแทนในปี 2573 ให้ได้ 5 ล้านกิโลวัตต์ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 ภูมิภาคที่มีโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมสูงสุด คือ โทโฮขุ 49 แห่ง รองลงมา คือ คิวชู 22 แห่ง และฮอกไกโด 17 แห่ง
เกษตรและอาหาร
- (1) MAFF ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 ญี่ปุ่นมีมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และผลิตภัณฑ์อาหาร คิดเป็น 714,400 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารนอกบ้านฟื้นตัว ความต้องการของผู้ประกอบการค้าปลีก และการจำหน่ายทางออนไลน์ขยายตัวต่อเนื่อง
- (2) MAFF ยังเตรียมการส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) การสร้างบุคลากรด้านการเกษตร และการสร้างเสถียรภาพในการผลิตข้าวสาลีและถั่วเหลืองในประเทศ โดยการจัดทำคำของบประมาณปี 2567 (ช่วงเดือนเมษายน 2567 – มีนาคม 2568)
Digital Automation & Robotics
Environmental Improvement Commission ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทเอกชนที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในย่าน West Shinjuku ของกรุงโตเกียว เช่น Taisei, Mitsubishi Electric และ KDDI ได้เปิดให้บริการแท็กซี่อัตโนมัติฟรีแก่ประชาชนในเส้นทางจากสถานีชินจูกุถึงสวนสาธารณะ Shinjuku Chuo Park โดยวางแผนจะให้บริการไปจนถึงปลายปี 2566 และให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.30 น. สำหรับผู้ที่สนใจเรียกใช้รถแท็กซี่อัตโนมัตินี้จะต้องลงทะเบียนและแจ้งขอใช้บริการล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน LINE
สังคมผู้สูงอายุ
กลุ่มประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไป มีจำนวนร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดเป็นครั้งแรก หรือประมาณ 270,000 จากจำนวนประชากร 124.6 ล้านคน ขณะที่กลุ่มประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนร้อยละ 29 ซึ่งเป็นอัตราที่มากที่สุดของกลุ่มคนสูงอายุเมื่อเทียบกับทั่วโลก (รองลงมาคืออิตาลี และฟินแลนด์) นอกจากนี้ ร้อยละ 25.2 ของกลุ่มคนสูงอายุได้รับการจ้างงานในปี 2565 คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 19 ปีติดต่อกัน
อัตราการเกิด
จำนวนทารกเกิดใหม่ในญี่ปุ่นระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 371,052 ราย ลดลงร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นตัวเลขต่ำสุดตั้งแต่ปี 2543 และลดลงต่ำกว่า 400,000 คนเป็นปีที่สองติดต่อกัน
แรงงานและการพัฒนาบุคลากร
- (1) รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจะผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สถานภาพการพำนักกับนักเรียนต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นภายในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อสนับสนุนให้สามารถทำงานต่อในญี่ปุ่นได้ โดยจะเริ่มต้นที่เมืองคิตะคิวชู ซึ่งเป็น National Strategic Special Zone ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและแรงงานต่างชาติและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ
- (2) รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตสถานภาพการพำนัก “แรงงานทักษะเฉพาะ” ให้กับแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น ประมาณ 2 เท่า โดยเทียบจากสถิติจำนวนแรงงานทักษะเฉพาะล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งมีจำนวน 173,089 คน กับสถิติ ณ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมีจำนวน 87,471 คน เมื่อแยกตามประเทศของแรงงานทักษะเฉพาะ พบว่าเป็นแรงงานชาวเวียดนามมากที่สุด ร้อยละ 56.32 รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับแรงงานทักษะเฉพาะจากไทยอยู่อันดับที่ 7 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า โดยสถิติ ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวน 3,499 คน ส่วนใหญ่ทำงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและเครื่องมืออุตสาหกรรม / งานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล / งานไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
- (3) รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 41 เยน/ชั่วโมง เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำพุ่งขึ้นมาเฉลี่ย 1,002 เยน/ชั่วโมง ถือเป็นครั้งแรกที่ค่าแรงขั้นต่ำเกิน 1,000 เยน/ชั่วโมง โดยการปรับค่าแรงดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ลูกจ้างไม่ประจำและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
การท่องเที่ยว
- (1) ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 66,164 คน ซึ่งถือว่าอยู่ระดับคงเดิมเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก (ประมาณ 6 หมื่นคน/เดือน) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 134 ขณะที่มีจำนวนชาวไทยที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นประมาณ 49,600 คน ซึ่งค่อย ๆ ลดลงจากระดับแสนคนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 และลดลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 2,000 คน ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวติดลบร้อยละ 32.2 เมื่อเทียบกับสถิติเดือนกรกฎาคม 2562
- (2) สายการบิน All Nippon Airways (ANA) แถลงเปิดตัว AirJapan สายการบินต้นทุนต่ำแบรนด์ใหม่ที่กำหนดเริ่มให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเส้นทางนาริตะ-กรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 15,500 เยน หรือประมาณ 3,700 บาท (ไม่รวมภาษีสนามบิน)
- (3) Booking.com เผยผลสำรวจการค้นหาที่พักยอดนิยมในต่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในช่วงวันหยุดฤดูร้อนปีนี้ โดยอันดับ 1 ได้แก่ กรุงโซล ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากกระแส K-POP ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ กรุงเทพฯ ขณะที่ AirTrip ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกับลูก (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี) พบว่า จุดหมายปลายทางที่เคยไปแล้วกับลูกและอยากไปอีก 3 อันดับแรก คือ (1) ฮาวาย (2) ไทย และ (3) กวม
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์