อาหารที่ทำจากแมลงได้รับความสนใจในฐานะเป็นแหล่งโปรตีนอนาคตและมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร โดยภายหลังที่บริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่นวางจำหน่ายขนมปังและขนมข้าวอบกรอบ (Senbei) ผสมผงจิ้งหรีดพบว่าได้รับความนิยมและจำหน่ายได้ดีจนสินค้าหมดหลายรายการ เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกแปลกใหม่และเป็น “อาหารที่ยั่งยืน” เพราะในขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ๆ ชนิดอื่น เช่น โค เป็นต้น
.
เมื่อเดือนธันวาคม 2563 บริษัท Shikishima Bakery ตั้งอยู่ที่เมือง Nagoya วางจำหน่ายขนมอบกรอบ 2 รายการ ภายใต้ชื่อ “Korogi (จิ้งหรีด) cafe series” โดยจำหน่ายหมดภายในสองวันหลังจากเริ่มจำหน่ายและเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ได้เริ่มจำหน่ายขนม Baumkuchen ซึ่งใช้ผงจิ้งหรีดที่ทำจากจิ้งหรีด 100 ตัว ทางออนไลน์ และพบว่าจำหน่ายหมดภายในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้วางจำหน่าย “ชุดทำขนมปังโดยใช้ส่วนผสมจากจิ้งหรีด” ซึ่งผู้บริโภคสามารถทำขนมปังเองที่บ้านได้ ประกอบด้วยแป้งสาลี ยีสต์ และผงจิ้งหรีดที่ทำจากจิ้งหรีด 600 ตัว ในราคา 2,376 เยน หรือประมาณ 713 บาท โดยสามารถทำขนมปังได้ 16 ชิ้น และพบว่าได้รับความนิยมและปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลิตเพิ่มเติม
.
นอกจากนี้ บริษัท Ryohin-keikaku ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Mujirushi-ryohin ได้วางจำหน่ายขนมข้าวอบกรอบ (Senbei) จิ้งหรีด ขนาดบรรจุถุงละ 55 กรัม มีส่วนผสมจากจิ้งหรีด 20 – 30 ตัว ในราคา 190 เยน หรือประมาณ 58 บาท เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีรสเค็มเล็กน้อยและรสชาติใกล้เคียงกับข้าวเกรียบกุ้ง ในช่วงแรกบริษัทฯ จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการวางจำหน่ายที่หน้าร้านด้วย ด้านเจ้าหน้าที่แผนกประชาสัมพันธ์ระบุว่า ผงจิ้งหรีดไม่สามารถผลิตได้คราวละจำนวนมาก จึงสามารถวางจำหน่ายสินค้าได้ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง และส่วนใหญ่แล้วจะจำหน่ายหมดภายในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์
.
จึงอาจกล่าวได้ว่าสินค้าอาหารจากจิ้งหรีด ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคยุโรปและลาตินอเมริกามาสักระยะหนึ่งแล้ว เริ่มมีแนวโน้มความนิยมในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินในอุตสาหกรรมอาหารควรศึกษาโอกาสเกี่ยวกับ ‘อาหารแห่งอนาคต’ (Future Foods) โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในระดับท้องถิ่น สามารถพิจารณาต่อยอดโอกาสในด้านนี้และเพิ่มลู่ทางการส่งออกสินค้าที่ทำจากจิ้งหรีดออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘Local to Global’ ของภาครัฐไทย ในการสนับสนุนและเป็นตัวเชื่อมโยงธุรกิจท้องถิ่นไทยไปสู่ตลาดโลกให้ได้มากขึ้นในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
.
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ Japan Agricultural News