ตามที่ญี่ปุ่นตั้งเป้าเป็นสังคมคาร์บอนเป็นศูนย์และได้กำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติพลังงานไฮโดรเจน เพิ่มการใช้พลังงานไฮโดรเจนให้ได้ 20 ล้านตันภายในปี 2593 และส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฮโดรเจน ทั้งการผลิต ขนส่ง กักเก็บ การใช้งาน เมืองโกเบจึงได้ขานรับตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยตั้งเป้าปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันสภาวะโลกร้อนเมืองโกเบ ซึ่งหนึ่งในแผนงานฯ คือ Hydrogen Smart City Kobe Initiative ผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคครัวเรือนและใน supply chain ของภาคธุรกิจ เป็นต้น
.
ที่ผ่านมา โกเบมีความก้าวหน้าในการใช้พลังงานไฮโดรเจน โดยเมื่อปี 2560-2561 สามารถพัฒนาระบบ Hydrogen Co-generation System (CGS) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายไปยังพื้นที่ Port Island และสนามบินโกเบ และสถานที่หน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์กีฬา โรงพยาบาล โรงบำบัดน้ำเสีย และหอประชุม
.
นอกจากนี้ ยังร่วมกับ New Energy and Industrial Technology Orgnization (NEDO) ทดลองใช้พลังงานไฮโดรเจนใน supply chain ภาคการขนส่ง โดยพัฒนาให้มีราคาถูกเพื่อสร้างแรงจูงใจ รวมถึงตั้งสถานีไฮโดรเจน (hydrogen station) และส่งเสริมการใช้รถยนต์ Fuel Cell Vehicle (FCV) ให้แพร่หลาย ซึ่งขณะนี้ เมืองโกเบมีสถานีไฮโดรเจนที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ผลิตไฮโดรเจน ที่ภาครัฐและเอกชนบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในแผน Hydrogen Smart City Kobe Initiative โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมใน supply chain ทั้งระบบของการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน ตั้งแต่การผลิต การนำเข้า การลำเลียงขนส่ง การกักเก็บ และการจัดสรร-จัดจำหน่าย
.
การพัฒนาของเมืองโกเบได้แสดงถึงความมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้พลังงานไฮโดรเจนในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สนามบินโกเบ หน่วยงานของรัฐ รวมถึงการใช้ในภาคเอกชนและครัวเรือน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและการตื่นตัวของทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันเป้าหมายสำคัญของเมือง โกเบจึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับไทย ทั้งในแง่มุมของการศึกษาเป็นแบบอย่างการบูรณาการของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และแง่มุมการแสวงหาความร่วมมือในอนาคตกับเมืองโกเบ
.
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์