ในช่วงที่ผ่านมาการบริโภคแมลงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลจากเมื่อปี 2556 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations- FAO) ได้แนะนำการบริโภคแมลงเป็นแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคตและต่อมาในปี 2561 European Food Safety Authority (EFSA) ได้รับรองว่าแมลง เช่น หนอนนกและจิ้งหรีด เป็นแหล่งอาหารชนิดใหม่ (novel food) ประกอบกับมีการศึกษาระบุว่าการเลี้ยงแมลงเพื่อบริโภคปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการทำปศุสัตว์อื่น ๆ และมีส่วนช่วยในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
.
ในส่วนของญี่ปุ่น กระแสการบริโภคแมลงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคแมลงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนมากดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับจิ้งหรีด เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง เลี้ยงง่าย ต้นทุนต่ำ มีข้อจำกัดด้านอาหารน้อย สามารถให้อาหารจากอาหารเหลือทิ้งได้ อีกทั้งยังมีลักษณะใกล้เคียงกับตั๊กแตนซึ่งคนญี่ปุ่นมีความคุ้นชินในการบริโภคอยู่บ้างในบางพื้นที่ความนิยมบริโภคจิ้งหรีดในญี่ปุ่นมีความเด่นชัดและเป็นกระแสมากขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ร้าน Muji ได้วางจำหน่าย “ข้าวเกรียบจิ้งหรีด” ผ่านช่องทางออนไลน์และได้รับความสนใจอย่างมาก สามารถจำหน่ายหมดภายในหนึ่งวัน
.
ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคจิ้งหรีดในญี่ปุ่นเน้นการแปรรูปเป็นผงจิ้งหรีดเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารชนิดต่าง ทั้งคาวและหวาน แม้จะเริ่มมีบางบริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดที่ยังคงรูปร่างของจิ้งหรีดไว้อยู่แต่ยังไม่แพร่หลายมาก เนื่องจากคนญี่ปุ่นส่วนมากยังไม่คุ้นชินกับการกินแมลงแบบที่ยังคงรูปลักษณ์แมลง โดยในนิทรรศการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร 2021 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2564 ที่กรุงโตเกียว มีหลายบริษัทที่ออกบูธโดยเน้นจุดขายคือผงจิ้งหรีด เช่น บริษัท FUTURENAUT นำเข้าผงจิ้งหรีดจากประเทศไทยมาใช้เป็นส่วนประกอบขนม เส้นบะหมี่ ขนมปัง และบริษัท Gryllus ได้สร้างแบรนด์ C.TRIA เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของผงจิ้งหรีด นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับจิ้งหรีดในรูปแบบอื่น เช่น การนำเข้าผงจิ้งหรีดจากอินโดนีเซีย หรือนำเข้าจิ้งหรีดอบแห้งจากเวียดนามเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับบดเป็นผง ขณะเดียวกันเริ่มมีการพัฒนาฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดมากขึ้นด้วย
.
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กระแสการบริโภคแมลงโดยเฉพาะจิ้งหรีดเติบโตในญี่ปุ่น เนื่องจากการเพาะเลี้ยงแมลงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์อื่น 1 สามารถเชื่อมโยงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ซึ่งเป็นแนวคิดที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ หลายบริษัทในภูมิภาคคันไซและชิโกะกู จึงได้ชูจุดเด่นของสินค้าของตนที่เป็นทั้งแหล่งอาหารแห่งอนาคตควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น
.
- บริษัท Gryllus (จังหวัด โทกูชิมะ) ก่อตั้งปี 2562 เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่พัฒนาจากการวิจัยด้านจิ้งหรีดของมหาวิทยาลัยโทกูชิมะ เลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำเพื่อให้เป็นแหล่งโปรตีนใหม่และส่งเสริมการบริโภคแมลงจากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม จิ้งหรีดถูกจัดเป็น circular food เนื่องจากอาหารส่วนหนึ่งสำหรับจิ้งหรีดได้มาจากอาหารเหลือทิ้งซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหา food loss ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาระบบเลี้ยงจิ้งหรีดแบบอัตโนมัติและศึกษาการพัฒนาสายพันธุ์จิ้งหรีดโดยใช้การปรับแต่งจีโนม และมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตอาหารเพื่อผลิตสินค้าอาหารจากจิ้งหรีด ปัจจุบันบริษัท Gryllus สามารถผลิตจิ้งหรีดได้มากที่สุดในญี่ปุ่น
.
- บริษัท BugMo (จังหวัด เกียวโต) ก่อตั้งปี 2561 มีแรงบันดาลใจจากการต้องการผลิตแหล่งโปรตีนที่ประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถผลิตเองได้และเป็นการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม BugMo เป็นผู้ที่เริ่มทำโปรตีนบาร์จากจิ้งหรีดเป็นเจ้าแรกในญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจพัฒนาระบบเลี้ยงจิ้งหรีด จำหน่ายผงจิ้งหรีด พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีด ปัจจุบันใช้จิ้งหรีดจากเวียดนามมาอบและปนเป็นผงจิ้งหรีดเพื่อทำโปรตีนบาร์ และผงซุปจิ้งหรีด
.
- บริษัท Mushinomegumi (จังหวัด เฮียวโกะ) ก่อตั้งปี 2560 ตั้งอยู่ในเมืองซาโยะซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดแบบบรรจุกระป้อง บริษัทฯ มีฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดโดยใช้กากเต้าหู้จากร้านเต้าหู้ในท้องถิ่นให้เป็นอาหารจิ้งหรีด ใช้แรงงานคนในการเลี้ยง ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดการจ้างงาน และมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
.
- บริษัท Sakoh (จังหวัด โอชากา) ก่อตั้งปี 2564 ดำเนินกิจการเลี้ยง แปรรูป จำหน่าย วัตถุดิบอาหารจากแมลง ผลิตภัณฑ์คือจิ้งหรีดอบภายใต้ชื่อแบรนด์ “Grylos” โดยใช้จิ้งหรีดพันธุ์ทองลายที่บริษัทเลี้ยงเอง ที่เมืองโอซากา บริษัทให้ความสำคัญกับการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบธรรมชาติ ไม่เพิ่มสิ่งที่เกินความจำเป็นในการเลี้ยงไม่สร้างขยะ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
.
โดยสรุป กระแสการบริโภคแมลงโดยเฉพาะจิ้งหรีดมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในญี่ปุ่นจากปัจจัยสนับสนุนด้านแนวคิดอาหารแห่งอนาคตและประเด็นสิ่งแวดล้อม และอาจนำไปสู่การรับรู้และความนิยมบริโภคแมลงชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพิจารณาโอกาสทางธุรกิจจากกระแสการบริโภคแมลงในญี่ปุ่นทั้งมิติการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและเรื่องราวที่เหมาะสมกับตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับบริษัทญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา