The Economist Intelligence Unit (EIU) ได้เผยแพร่อันดับเมืองในโลกที่มีค่าครองชีพสูงที่สุด 10 อันดับแรก โดยกรุงเทลอาวีฟเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในปี 2564 ตามด้วยกรุงปารีส และสิงคโปร์ ทั้งนี้ กรุงเทลอาวีฟได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในอันดับที่ 5 ในปี 63 และ อันดับที่ 10 ในปี 62
.
ปัจจัยสําคัญต่ออัตราค่าครองชีพในกรุงเทลอาวีฟ ได้แก่ สกุลเงินเชคเกลที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 25 ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ํามันขายปลีกที่ปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 3 ปี เมื่อเดือนตุลาคม 2564 โดยน้ํามันเบนซิน 95 อยู่ที่ประมาณ 70.79 บาท/ลิตร การผูกขาดในตลาดสินค้าอุปโภค บริโภค ส่งผลให้ราคาสินค้าทั่วไปที่ปรับขึ้นถึงร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นอัตราที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ราคาของอสังหาริมทรัพย์ก็ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
.
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ค่าครองชีพของกรุงเทลอาวีฟจะยังสูงขึ้นต่อไป เนื่องจากค่าเงินเชคเกลที่ยังคง แข็งค่ามากขึ้น ไม่นับรวมถึงอัตราเงินเฟ้อของอิสราเอล ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5 และอาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อคํานึงว่าอิสราเอลจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ําจากเดิม 5,300 เชคเกล/เดือน เป็น 6,000 เชคเกล/เดือน ในเดือนเมษายน 2565 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2)
.
OECD คาดการณ์ว่าในปีนี้ เศรษฐกิจอิสราเอลฟื้นตัวขึ้นมากกว่าการคาดการณ์เดิม โดยคาดว่า GDP ในปี 2564 จะขึ้นสูงถึง 6.3 % ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่อิสราเอลรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง ทําให้สามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และการเติบโตขึ้นของภาคอุตสาหกรรม Hi Tech รวมถึงการที่รัฐบาลอิสราเอลสามารถผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ซึ่งมีแผนเพิ่มการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูประบบเพื่อให้มีการลงทุนใน อิสราเอลง่ายขึ้น รวมถึงการลงทุนด้านการศึกษา และวิจัย ในขณะที่คาดว่า GDP ของอิสราเอล จะอยู่ที่ 4.9 % ในปี 2565 และอยู่ที่ 4 % ในปี 2566
.
แม้ว่ากรุงเทลอาวีฟจะกลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก แต่ในอีกมุมหนึ่ง เทลอาวีฟกลับเป็นศูนย์กลางทางการเงิน วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “เมืองแห่งสตาร์ทอัพของโลก” ที่สามารถดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกมาลงทุนได้มากกว่า 300 แห่ง และยังมีนโยบายเปิดเสรีให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนในอิสราเอลได้ 100% โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สิ่งแวดล้อม อุปกรณ์การแพทย์ โทรคมนาคม อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีการเกษตร เป็นต้น นี่จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะทำการลงทุน หรือศึกษาช่องทางแสดงศักยภาพของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของไทย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเงินของอิสราเอล ยังเป็นอีกประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ