ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี พ.ศ. 2566 ขยายตัวร้อยละ 4.7 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ในปี พ.ศ. 2565) คิดเป็นมูลค่า 403.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจาก 347.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2565) โดยมีปัจจัยสําคัญจาก (1) ปริมาณการผลิตน้ํามันที่มากถึง 3.1 ล้านบาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 19 จากปี พ.ศ. 2564) และ (2) ตัวเลขการส่งออกน้ํามันที่สูงถึง 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากปีพ.ศ. 2565ฃ) คิดเป็นมูลค่า 53.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมตัวเลขภาคการผลิตและส่งออกน้ํามัน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่าน (Non-oil GDP Growth) ปี พ.ศ. 2566 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8
ดุลบัญชีเดินสะพัด ปี พ.ศ. 2566 เกินดุล 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของ GDP (เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 ที่เกินดุล 14.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการส่งออกสินค้าและบริการ คิดเป็นมูลค่า 119.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2565 ที่การส่งออกมีมูลค่า 107.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่การนําเข้าสินค้าและบริการ มีมูลค่า 102.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 ที่การนําเข้ามีมูลค่า 92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ปี พ.ศ. 2566 อยู่ที่ร้อยละ 41.5 (ลดลงจากร้อยละ 45.8 ในปี พ.ศ. 2565 ) ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (ไม่รวมราคาค่าเชื้อเพลิงและอาหาร) ปี พ.ศ. 2566 อยู่ที่ร้อยละ 45.5 (ลดลงจากร้อยละ 45.6 ในปี พ.ศ. 2565)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 9 (ประมาณ 7.4 ล้านคน จากประชากร 87.412 ล้านคน) ทรงตัวจากปี พ.ศ. 2565 ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 9 เช่นกัน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจอิหร่านปี พ.ศ. 2567 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากปี พ.ศ. 2566 โดยคาดว่า GDP อิหร่านปี พ.ศ. 2567 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 (ลดลงจากปี พ.ศ. 2566 กว่าร้อยละ 30) โดยมีปัจจัยฉุดรั้งจากราคาน้ํามันในตลาดโลกที่คาดว่าจะลดลงเหลือต่ํากว่า 79 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลต่อรายรับของรัฐบาลอย่างมีนัยสําคัญ โดย IMF ระบุว่า รัฐบาลอิหร่านจําเป็นต้องขายน้ํามันให้ได้ในราคาไม่ต่ํากว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประสบปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบในปี พ.ศ. 2567
แม้ IMF จะปรับประมาณการณ์ตัวเลขเงินเฟ้ออิหร่านในปี ๒๕๖๗ ลดลง แต่คาดว่าอิหร่านจะยังประสบปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องอยู่ โดยมีสาเหตุจากปัญหาค่าเงินเรียล (Rial) ที่อ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 30 ในปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ค่าเงินเรียลอิหร่านมีมูลค่าลดลงกว่า 15 เท่า) ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2566 ราคาสินค้าเนื้อแดง เช่น เนื้อแกะ ซึ่งเป็นอาหารหลักที่ชาวอิหร่านบริโภค มีราคาสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 อยู่ที่กิโลกรัมละ 5 ล้านเรียล (ประมาณ 11 ดอลลาร์สหรัฐ) ทําให้ชาวอิหร่านจํานวนมากต้องหันไปบริโภคเนื้อไก่ทดแทน แต่ก็ทําให้เกิดปัญหาราคาเนื้อไก่ตกต่ําเนื่องจากเกษตรกรหันไปเลี้ยงไก่กันเป็นจํานวนมากจนเกิดภาวะอุปทานล้นตลาด และขณะเดียวกันปัญหาราคาค่าอาหารที่สูงขึ้นทําให้อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวอิหร่านโดยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 6-7 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจากการบริโภคที่ไม่สมดุลในเชิงสารอาหารได้
นอกจากปัญหาเงินเฟ้อ คาดว่า รัฐบาลอิหร่านจะประสบความท้าทายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาที่พักอาศัย (housing) เนื่องจากปัจจุบันราคาบ้านพักในตลาดทั้งสําหรับจําหน่ายและเช่าพุ่งสูงขึ้นมาก โดยราคา บ้านพักในกรุงเตหะรานมีราคาขายเฉลี่ย (ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567) อยู่ที่ 8.1 ร้อยล้านเรียล/ตารางเมตร (ประมาณ 1.3 พันดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากราคานําเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมากจากปัญหาค่าเงินเรียลตกต่ํา ขณะที่ราคาเช่าบ้านพักก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันกว่าร้อยละ 40 เนื่องจากเจ้าของบ้านจําเป็นต้องคิดคํานวนราคาค่าเช่าให้สูงขึ้นเพื่อชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาดังกล่าวส่งผลทําให้ชาวอิหร่านจํานวนมากขาดความกระตือรือร้นในการหางานทํา โดยเฉพาะผู้ที่มีงานทําอยู่แล้วและมีโอกาสได้งานทําใหม่ที่อาจทําให้มีรายได้สูงขึ้น เนื่องจากพบว่าแม้จะมีรายได้จากการทํางานเท่าใดแต่ก็ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ําหรือรายได้เฉลี่ยต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขอัตราการว่างงานที่ทรงตัวสูงอย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นระยะเวลาหลายปี
แม้เศรษฐกิจอิหร่านในปี พ.ศ. 2567 จะมีแนวโน้มถดถอยและขยายตัวไม่มากนัก กอปรกับการที่รัฐบาล อิหร่านยังอยู่ภายใต้มาตรการคว่ําบาตรของชาติตะวันตกซึ่งดําเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ทําให้มีข้อจํากัดในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการดําเนินธุรกิจกับฝ่ายอิหร่าน โดยเฉพาะการที่อิหร่านถูกตัดการเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลก แต่อิหร่านก็ยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะดึงเม็ดเงินเข้าประเทศไทยได้โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เนื่องจากชาวอิหร่านมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทยและประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ชาวอิหร่านให้ความนิยม นอกจากนี้ ชาวอิหร่านที่มีฐานะก็นิยมเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศเนื่องจากปัญหาสมองไหลด้านบุคลากรทางการแพทย์แม้อิหร่านจะมีศักยภาพในการผลิตยาและอุปกรณ์ด้านการแพทย์เป็นของตนเองก็ตาม โดยข้อมูลล่าสุดจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประจำดูไบ ระบุว่า ในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน พ.ศ. 2567 มีนักท่องเที่ยวอิหร่านเดินทางไปประเทศไทยมากถึง 24,370 คน ซึ่งมากเป็นลําดับที่ 3 ของนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์