อินโดนีเซียเป็นประเทศที่นำเข้าผลไม้จากไทยหลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย และมะขามซึ่งในส่วนของลำไยนั้น อินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าผลไม้ชนิดนี้มากถึง 77,000 ตันต่อปี (ข้อมูลปี 2560) โดยสถานการณ์การนำเข้าลำไยจากไทยในปี 2560 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 อินโดนีเซียได้เริ่มออกใบอนุญาตนำเข้า (import permit) ให้แก่ผู้นำเข้าผลไม้หลายราย ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศแหล่งนำเข้าลำไยอันดับหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด[su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 นี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกนโยบายรักษาสมดุลอุปสงค์และอุปทานลำไยภายในประเทศ โดยจำกัดการนำเข้าลำไยจากต่างประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมในปีนี้ เพื่อปกป้องตลาดลำไยภายในประเทศ ซึ่งมีกำหนดเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกันของปี โดยกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ผลผลิตลำไยภายในประเทศน่าจะเพียงพอต่อความต้องการในช่วงดังกล่าว[su_spacer size=”20″]
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา มิได้นิ่งนอนใจ เร่งเข้าพบกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรอินโดนีเซียเมื่อเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขอให้กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียพิจารณาทบทวนมาตรการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียแจ้งว่า แม้จะมีความเชื่อมั่นว่า ผลผลิตลำไยซึ่งส่วนมากผลิตจากจังหวัดชวากลาง น่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนี้ แต่หากพบว่าปริมาณลำไยขาดตลาด กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียก็พร้อมที่จะหารือกับกรมการค้าของอินโดนีเซียในการทบทวนนโยบายการนำเข้าลำไยดังกล่าว เพื่อให้ปริมาณลำไยมีเพียงพอกับความต้องการในประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยจะได้ติดตามเรื่องนี้ต่อไป[su_spacer size=”20″]
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ลำไยมิใช่ผลไม้ชนิดแรกที่อินโดนีเซียกำหนดมาตรการจำกัดช่วงเวลาการนำเข้า ด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องผลผลิตภายในประเทศ แต่ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียก็ได้เคยออกมาตรการในลักษณะนี้กับการนำเข้าทุเรียนของไทยมาแล้วเช่นกัน จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคต อินโดนีเซียน่าจะดำเนินการในลักษณะนี้กับผลไม้ชนิดอื่น ๆ อีก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการของไทยต้องปรับตัวให้มากขึ้น ทั้งการกระจายความเสี่ยงโดยการหาช่องทางการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ นอกเหนือจากอินโดนีเซีย รวมทั้งการหาวิธีแปรรูปและเพิ่มมูลค่าของสินค้าเพื่อรักษาตลาดดั้งเดิมเอาไว้[su_spacer size=”20″]
นอกจากเรื่องลำไยที่นับเป็นข่าวที่ไม่สู้จะดีนักสำหรับเกษตรกรไทยแล้ว ก็นับว่ายังมีข่าวดีอยู่บ้าง โดยในปีนี้ ถือเป็นปีแรกที่อินโดนีเซียจะนำเข้ามะม่วงไทยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรที่เพาะปลูกมะม่วง และผู้ส่งออกของไทย เนื่องจากช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มะม่วงของไทยออกผลพอดี ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ประสงค์ส่งออกผลไม้สด จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าพืชสวนของอินโดนีเซียอย่างเคร่งครัด โดยการส่งออกผลไม้ไปยังอินโดนีเซียต้องมีหลักฐานหรือใบรับรองผลการตรวจสอบที่ออกโดยห้องปฏิบัติการที่มีอำนาจ และได้รับการรับรองจากทางการอินโดนีเซีย ว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่ห้ามในอินโดนีเซีย และไม่มีเชื้อโรคทางพืชและแมลงตามที่รัฐบาลกำหนด[su_spacer size=”20″]
อนึ่ง เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าส่งออกผลไม้สดต้องส่งออกมะม่วงผ่านผู้นำเข้าผลไม้ของอินโดนีเซียที่มีใบรับรองการดำเนินธุรกิจ Recommendation of Horticultural Products (RIPH) จากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากประกาศของกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียทางเว็บไซต์ www.pertanian.go.id[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา