อินโดนีเซียใช้เส้นทางคมนาคมทางถนนเป็นหลักในการสัญจร โดยส่วนใหญ่จะมีศูนย์รวมอยู่ที่เกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะเศรษฐกิจหลักของประเทศและมีประชากรจำนวนมากที่สุด โดยเกาะชวาและเกาะสุมาตรามีเส้นทางรถไฟครอบคลุมในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ไม่เชื่อมถึงกัน รวมถึง urban commuter line ในเมืองสำคัญ อาทิ จาการ์ตา เมดาน ส่วนการคมนาคมทางน้ำก็เป็นเส้นทางสำคัญทั้งในแง่การสัญจรและการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการสัญจรในเกาะที่ยังไม่พัฒนาเทียบเท่าชวา ส่วนการบินเป็นการคมนาคมที่สะดวกที่สุดแต่มีราคาสูงกว่าการเดินทางประเภทอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น และกลุ่มชนชั้นกลางกำลังขยายตัว ทำให้การบินเป็นการคมนาคมที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาระบบคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลอินโดนีเซีย และได้รับการสานต่อและยกระดับการดำเนินการให้เข้มข้นขึ้นในช่วงการดำรงตำแหน่งของ ประธานาธิบดี Joko Widodo โดย อินโดนีเซียได้โยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ รวมถึงการกระจายความเจริญออกจากเกาะชวา ผ่านการปรับปรุงถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้ เข้ากับศูนย์การผลิตนิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุน ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มการจ้างงาน รวมถึงประกาศให้การลงทุนด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในสาขาที่อินโดนีเซียต้องการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษผ่านระบบ Public-Private Partnership (PPP)
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอินโดนีเซีย ได้รับการลงทุน FDI ในอุตสาหกรรมยานพาหนะและการขนส่งคมนาคม มากที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ของทุกสาขา รวมถึงมีการใช้จ่ายภาครัฐและดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
โอกาสการลงทุนในสาขาคมนาคมสำหรับต่างชาติ
- ธุรกิจการบิน เป็นสาขาที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีตลาดขนาดใหญ่ ความต้องการใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดรับกับการขยายตัวของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และนโยบายส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยว รวมทั้ง รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังมีผู้เล่นจำนวนไม่มากนัก
- การคมนาคมที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ สีเขียว อาทิ การสร้าง charging stations สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การเปิดให้บริการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ฯลฯ โดยอาจเป็นตลาด niche
- การพัฒนาระบบคมนาคมในเมืองหลวงใหม่ (IKN) รัฐบาลอินโดนีเซียจะยังดำเนินการพัฒนา IKN ต่อไป โดยโครงการสำคัญได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการ ขนส่งทางเรือบริเวณ IKN ซึ่งรวมถึง seaport, special seaport และเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเล สนามบิน แห่งใหม่ (Nusantara VVIP Airport) ระบบขนส่งทางราง (autonomous rail transit – ART) และรวมถึงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ และขนส่งมวลชนภายใน IKN รวมถึงรถประจำทาง EV ซึ่งจะเน้นการใช้พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียประสงค์ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ
โครงการพัฒนาการคมนาคมที่โดดเด่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BRI
อาทิ (1) การก่อสร้างรถไฟ ความเร็วสูง Whoosh เส้นทางจาการ์ตา-บันดุง ซึ่งมีแผนจะขยายเส้นทางไปยังทิศตะวันออก จนถึงเมืองสุราบายา (2) การสร้าง MRT สายตะวันออก-ตก ระยะทาง 100 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อจังหวัดบันเติน จาการ์ตา และ จังหวัดชวาตะวันตก (3) โครงการรถไฟสุลาเวสี เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่าง จ. สุลาเวสีเหนือ และ จ. สุลาเวสีใต้ ระยะทาง 1,513 กิโลเมตร (4) สะพาน Suramadu เชื่อมเกาะชวากับเกาะมาดูรา (Madura) ความยาว 5.4 กิโลเมตร
ความร่วมมือด้านคมนาคมไทย – อินโดนีเซีย
สายการบินที่มีเส้นทางระหว่างไทย – อินโดนีเซีย ได้แก่ การบินไทย สายการบินการูด้า แอร์เอเชีย ไลออนแอร์ และบาติกแอร์ โดยมีเส้นทางจากกรุงจาการ์ตา – กรุงเทพฯ บาหลี – กรุงเทพฯ และเมดาน-กรุงเทพฯ
โดยปัจจุบันทั้งไทยและอินโดนีเซียประสงค์จะขยายเส้นทางการบินระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เมดาน – หาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสองฝ่าย
ในด้านการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์และคมนาคม โดยเฉพาะกับนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น อินโดนีเซียมองว่าไทยมีความก้าวหน้ากว่าในการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมและระบบโลจิสติกส์ และประสงค์จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับไทยในเรื่องดังกล่าว
โดยนาย Budi Karya Sumadi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย และคณะ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเดือน ก.พ. 2567 และได้ชื่นชมการบริหารจัดการท่าเรือและการจัดระบบโลจิสติกส์ของไทย พร้อมสนับสนุนให้ท่าเรือของอินโดนีเซีย นำผลการศึกษาดูงานจากไทยไปปรับใช้กับการพัฒนาในอินโดนีเซีย
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์