การจัดสรรงบประมาณของอินโดนีเซียในปี 2565
.
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียได้อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2565 (2022 State Budget Bill) ซึ่งอนุมัติงบประมาณประจำปี 2565 เป็นจำนวน 2,714.2 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือประมาณ 189.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดหวังว่าการใช้งบประมาณจำนวนดังกล่าวจะทำให้ (1) เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2565 เติบโตร้อยละ 5.2 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายปี 2564 ที่ระบุให้เศรษฐกิจต้องเติบโตร้อยละ 5 (2) การขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 4.85 ของ GDP ซึ่งปี 2565 เป็นปีสุดท้ายที่อินโดนีเซียจะสามารถขาดดุลงบประมาณเกินร้อยละ 3 ตามที่กฎหมายกำหนดเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 (3) อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งเท่ากับเป้าหมายของปี 2564 และ (4) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 14,350 รูเปียห์อินโดนีเซีย ซึ่งเป้าหมายของปี 2564 อยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 14,600 รูเปียห์อินโดนีเซีย
.
สำหรับเป้าหมายรายรับของภาครัฐ (state revenue target) ในปี 2565 อยู่ที่ 1,846.13 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (125 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยแบ่งออกเป็นรายได้จากภาษี 1,510 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (105 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี 335.6 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (23.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ สภายังเห็นชอบเป้าหมายการพัฒนาอื่น ๆ ได้แก่ (1) การทำให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 5.5 – 6.3 (2) การทำให้อัตราความยากจนอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 8.5 – 9 (3) ดัชนีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ (Gini ratio) ไม่เกิน 0.376 – 0.378 (4) ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index) ระหว่าง 73.41 – 73.46 (5) การผลิตก๊าซธรรมชาติ 1.036 ล้านบาร์เรล/วัน และ (6) การขุดน้ำมันดิบ 703,000 บาร์เรล/วัน บาร์เรลละ 63 ดอลลาร์สหรัฐ
.
แผนผลักดันการท่องเที่ยวของรัฐบาลอินโดนีเซีย
.
รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนผลักดันการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ หยุดชะงักลง โดยมีเป้าหมายหลักคือการ “rebrand” การท่องเที่ยวอินโดนีเซียให้คำนึงถึงการเพิ่มคุณภาพนักท่องเที่ยว และมุ่งเน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดเงินได้สูง มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว การเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข และการทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นพัฒนาบุคลากร และใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ดังนี้
.
1. การพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อต่ำ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 และการสานต่อโครงการ Travel Bubble กับ สิงคโปร์ หลังจากหยุดดำเนินการไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 โดยอินโดนีเซียเลือกพื้นที่เมือง Lagoi ในเขต Bintan (หมู่เกาะเรียว) เป็นพื้นที่เริ่มโครงการ Travel Bubble กับ สิงคโปร์ (ห่างจากสิงคโปร์ทางเรือประมาณ 1 ชั่วโมง และประชาชนมีการเดินทางไปมาระหว่างทั้ง 2 พื้นที่ในช่วงเวลาปกติ) โดยคาดว่าจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในเดือนตุลาคม 2564 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้บริจาควัคซีน AstraZeneca ให้แก่เมือง Batam ในอินโดนีเซียเป็นจำนวน 122,400 โดสอีกด้วย
.
2. การตั้งงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในโครงการ National
Economic Recovery (PEN) ปี 2565 เป็นเงิน 9.2 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (ประมาณ 640 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ) โดยดำเนินการในหลายโครงการ เช่น โครงการภูมิใจท่องเที่ยวในอินโดนีเซีย และ Proudly Made in Indonesia โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่อินโดนีเซียกำหนดให้เป็น “10 New Balis” และ “5 Super Priority Tourism Destinations” และจะกำหนดให้ผู้ที่ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ใน “10 New Balis” ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนและภาษีสูงสุด 10 ปี ตามประเภทธุรกิจ
.
3. การจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Indonesia Health Tourism Board – IHTB)
และการปรับกฎระเบียบด้านการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในอินโดนีเซีย โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบสาธารณสุขอินโดนีเซีย และการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเปิดให้ต่างชาติลงทุนผ่าน New Investment List โดยปัจจุบันประเทศที่ลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของอินโดนีเซียมากที่สุด คือ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และจีน
.
4. การกำหนดสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาสำคัญ ได้แก่
(1) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในสาขาการรักษาบำบัดที่มีมูลค่าสูง (2) สปา ฟิตเนส herbal tourism และ traditional and herbal health services (3) การท่องเที่ยวด้านสุขภาพและกีฬา ซึ่งจะอิงกับ การจัดการแข่งขันกีฬา และ (4) การท่องเที่ยวด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ (scientific tourism) ซึ่งจะอิงกับธุรกิจ MICE
.
5. การพัฒนาการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากมีชาวอินโดนีเซียจำนวนมากที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวเชิงศาสนา ในต่างประเทศ โดยปัจจุบัน มีจังหวัดที่มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านศาสนาหลายแหล่งในอินโดนีเซีย เช่น จังหวัดสุมาตราตะวันตก จังหวัดอาเจะห์ จังหวัดชวาตะวันตก และ จังหวัดนุสาเตงการาตะวันตก โดยล่าสุด จังหวัดกาลิมันตันใต้ และ จังหวัดโกโรนตาโล ได้เร่งผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวด้านศาสนา และฮาลาลอีกด้วย
.
อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอย่างมากมาโดยตลอด เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และมีจำนวนประชากรมากถึง 273.5 ล้านคน ซึ่งแผนผลักดันการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย ภายหลังการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นมีส่วนที่ตรงกับจุดแข็งของไทย เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจสปา และบริการด้านสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการริเริ่ม หรือจับมือทำธุรกิจด้านนี้กับผู้ประกอบการชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานในระดับโลกของไทยเพื่อตีตตลาดอินโดนีเซีย ท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตของโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติของอินโดนีเซีย หรือ Jaminan Kesehatan Nasional (JKN) ที่ส่งผลให้มีเกิดความต้องการด้านห่วงโซ่อุปทานเครื่้องมือทางการแพทย์ที่มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาขั้นตอนการลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ภายใต้ ASEAN Common Submission Dossier Template และการขอใบอนุญาตจัดจำหน่าย เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ถูกต้องด้านการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของอินโดนีเซีย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา