ด้วยเมื่อ 7 มีนาคม 2564 สวิตเซอร์แลนด์ได้ลงประชามติเกี่ยวกับความตกลงด้านการค้าการลงทุน Indonesia-European Free Trade Association Comprehensive Economic Partnership Agreement (I-EFTA CEPA) กับอินโดนีเซีย โดยการนําเข้าน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียเป็นประเด็นสำคัญของความตกลง
.
สรุปสาระสําคัญได้ ดังนี้
.
ความตกลง I-EFTA CEPA ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากที่ร้อยละ 51.7 โดยหนึ่งในประเด็นสําคัญ ได้แก่ การนําเข้าน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย ซึ่งภายใต้ความตกลงฯ จะต้องสอดคล้องกับข้อกําหนดในเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ผู้นําเข้าจะสามารถนําเข้าน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียแบบยั่งยืนโดยใช้อัตราภาษีต่ํา (ลดอัตราภาษีที่ร้อยละ 20 – 40) รวมทั้งจํากัดจํานวนการนําเข้าที่ 12,500 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการปกป้องภาคการผลิตน้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันเรพซีดของสวิตเซอร์แลนด์ด้วย
.
น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าสําคัญสําหรับอินโดนีเซีย โดยภาคการผลิตมีการจ้างงานคนอินโดนีเซียกว่า 16 ล้านคน และการส่งออกมีมูลค่า 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่าร้อยละ 8.8 ของการส่งออกของอินโดนีเซียทั้งหมด
.
ปี 2563 อินโดนีเซียส่งออกปาล์มน้ำมัน 34 ล้านตัน (จากพื้นที่ปลูก 22.1 ล้านเฮกเตอร์) มูลค่า 22.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ร้อยละ 13.6) และปริมาณการส่งออกต่ำกว่า ปี 2562 ที่ส่งออกไป 37.4 ล้านตัน
.
แม้ว่าตลาดอินโดนีเซียเป็นสัดส่วนน้อยของการส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์ไปยังตลาดโลก (ร้อยละ 0.33) อีกทั้งในปี 2563 การค้าระหว่างอินโดนีเซียกับสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าเพียง 3.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินโดนีเซียส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์เป็นมูลค่า 2.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อินโดนีเซียเล็งเห็นว่าความตกลงในครั้งนี้มีความสําคัญต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นอกจากการเข้าถึงตลาดแล้ว ยังส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนด้วย
.
ด้านนาย Muhammad Luth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย กล่าวว่า จะร่วมมือกับสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาความยั่งยืน เช่น การดําเนินโครงการ Indonesia-Swiss Economic Cooperation and Development Program 2021- 2024 (ปี 2564 – 2567) เพื่อพัฒนาความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา