การเตรียมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของอินโดนีเซีย จาก 11% เป็น 12% โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย Harmonization of Tax Regulation Law (UU HPP) ของอินโดนีเซีย ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ในยุคของรัฐบาล นายโจโก วิโดโด โดยกำหนดให้เพิ่ม VAT จาก 10% เป็น 11% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 และจาก 11% เป็น 12% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งได้รับการยืนยันจากรัฐบาลอินโดนีเซียแล้วว่าจะดำเนินการมาตรการดังกล่าวโดยไม่เลื่อนกำหนดอีกและทางรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม
เหตุผลของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อเร่งเพิ่มรายได้แผ่นดินและความคล่องตัวทางการเงิน การคลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย เนื่องจากนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขและการคุ้มครองทางสังคมแก่กลุ่มต่างๆ (กฎหมายดังกล่าวออกมาในช่วง COVID-19 และช่วงที่มีประกาศเร่งรัดการก่อสร้าง IKN ระยะแรกๆ) และถึงแม้ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่งแล้ว แต่ก็มีโครงสร้างที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการอาหารกลางวันฟรีและการสานต่อโครงการก่อสร้าง IKN
ตามกฎของรัฐบาลอินโดนีเซียที่เผยแพร่ในปัจจุบัน สินค้าที่จะอยู่ในข่ายการเก็บภาษี VAT 12% คือ สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้า/บริการกลุ่มพรีเมียม ซึ่งรวมถึงอาหาร ผัก ผลไม้และสินค้านำเข้า การศึกษาภาคเอกชนหรือพิเศษ/บริการทางการแพทย์เอกชน และค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟ 3,500-6,000 VA ส่วนสินค้าจำเป็นประเภทน้ำมันทำอาหาร แป้งและน้ำตาลทรายขาว (Industrial Sugar) จะยังอยู่ในข่ายที่เสียภาษี VAT 11% ตามเดิม ทั้งนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ข้าว ข้าวโพด ไข่ นม บริการทางการแพทย์และการศึกษาขั้นพื้นฐาน วัคซีนขั้นพื้นฐาน หนังสือ ไฟฟ้าพื้นฐาน ฯลฯ จะไม่เสีย VAT อนึ่ง รายละเอียดในส่วนนี้อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
โดยรัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการบังคับ VAT 12% ดังนี้
แม้นโยบาย VAT 12% น่าจะทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถจัดเก็บรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้นประมาณ 350-375 ล้านล้านรูเปียร์ (ประมาณ 7.3 – 7.8 แสนล้านบาท) แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ลดการใช้จ่ายภาคประชาชนราว 3.2% และอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงถึง 4.8% อันอาจทำให้จำนวนชนชั้นกลางในอินโดนีเซียลดลง นอกจากนี้ประชาชนจำนวนมาก รวมถึงสมาคมนายจ้างอินโดนีเซีย ยังวิจารณ์นโยบายดังกล่าวว่าสร้างภาระเพิ่มแก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงมีแค่ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ โดยกลุ่มสหภาพแรงงานกว่าวว่าจะออกมาประท้วงหากรัฐบาลอินโดนีเซีย ดำเนินนโยบายนี้ต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่มีท่าทีว่าจะเปลี่ยนแปลงวันบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว แต่กล่าวว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงและปรับนโยบายในอนาคตตามสถานการณ์และความเหมาะสม
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา