อินโดนีเซียตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในปี 2565 โดยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.6 ล้านคนและนักท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 260-280 ล้านคน คาดว่าจะสร้างรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวประมาณ 470 ล้าน ถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้เปิดตัว “Injourney Holding” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบครบวงจรและอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบต่าง ๆ
.
โดยปัจจัยดึงดูดที่สำคัญคือการประชุมนานาชาติ เช่น การประชุม G20, งาน MotoGP World Championship Grand Prix, World Conference on Creative Economy นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี คือมาตรการด้านสาธารณสุขที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพิจารณาการเริ่มใช้มาตรการ Vaccinated Travel Lane ในไตรมาสแรกของปี 2565
.
นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนการปรับปรุง Kualanamu International Airport (KNO) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุมาตราเหนือ ด้วยงบประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ KNO เป็นสนามบินหลักในการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคให้ทัดเทียมกับสนามบิน Changi ของสิงคโปร์และสนามบิน Kuala Lumpur International Airport ของมาเลเซีย คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการ 50 ล้านคนต่อปี
.
อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เริ่มมีการดำเนินมาตรการ Travel Bubble ระหว่างสิงคโปร์ เกาะบาตัม และเกาะบินตัน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วและมีประกันสุขภาพตามเงื่อนไขที่กำหนด และจะมีการประเมินมาตรการและจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นระยะ ทั้งนี้ อินโดนีเซียอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอจัดทำความตกลง Travel Bubble กับประเทศอื่น ๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ บาหลี
.
อินโดนีเซียเริ่มผลักดันการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) อย่างจริงจัง โดยมีพื้นที่นำร่องคือโรงพยาบาล Bali International Hospital ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้านธุรกิจสุขภาพแห่งแรกของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2566 และคาดว่าจะสร้ายรายได้ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะมีการกำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดบุคลากรทางการแพทย์ทั้งชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติ รวมถึงจะมีการเร่งยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตยาและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและการใช้งานในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพิ่มเติม ที่เมดาน จ.สุมาตราเหนือ และในกรุงจาการ์ตาอีกด้วย
.
จะเห็นได้ว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เริ่มเป็นที่สนใจของนานาประเทศมากขึ้น ดังนั้นการที่อินโดนีเซียเริ่มหันมาเจาะตลาด medical tourism รวมไปถึงการท่องเที่ยวโดยรวม ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงการเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวและโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ยังสะท้อนถึงการแข่งขันในอนาคตที่จะเข้มข้นมากขึ้นจากการมีคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจให้รอบด้าน เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป
.
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
.
อ้างอิงเพิ่มเติม
https://setkab.go.id/en/govt-launches-injourney-holding/